Announcement of the 10 Finalists

ประกาศผล 10 ผลงานที่เข้ารอบโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond”

 

 ขอแสดงความยินดีกับ 10 ผลงานผู้เข้ารอบ หลังจากได้นำเสนอไอเดียต่อคณะกรรมการในวันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา และหลังจากนี้ทั้ง 10 ทีมจะได้เข้าร่วมเวิร์กช็อปจากผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ทั้งเรื่องของการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม พื้นฐานของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ จนถึงเรื่องของงานศิลปะในพื้นที่สาธารณะ ความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ที่เพจ One Bangkok

 

ผลงานของผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีม มีดังนี้

1.      INVINCI 

2.      THE CREW SEATSCAPE 

3.      SE[AT]QUECE 

4.      RIBBON FLOW 

5.      THE SPECTRUM 

6.      SEE-KLONG 

7.      แด่เพื่อนที่(ไม่)รู้จัก (FOR THE FRIEND WE HAVEN’T MET YET)

8.      B3X 

9.      A:R (AROUND) 

10.    SITTING SMOOTH

1. INVINCI ผลงานโดย ธฤต ไทยานนท์ - วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต

การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะแบบคิวบิสม์ จากศิลปินต่างๆ ทั้งคาซิมีร์ มาเลวิช (Kazimir Malevich) และ เก้าอี้ Wassilly ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกแบบโมเดิร์น หรือรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบบาวฮาวส์ ออกแบบเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มาพร้อมกับการใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์เอง เป็นผลงานสถาปัตยกรรม และเป็นงานศิลปะ ด้วยรูปทรงเรขาคณิตแบบเรียบง่ายเอื้อให้เกิดพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมได้หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์และการใช้งานที่ผู้ใช้มองเห็นได้ตามแต่ละมุมมอง ผลงานนี้จึงเป็นได้ทั้งโต๊ะ เก้าอี้นั่ง ที่พักพิง รองรับตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics)

 

2. THE CREW SEATSCAPE ผลงานโดย พิมพ์ลภา ลักขณานุกูล, วริทธิ์ธร ทิอวน และ ธนภัทร สิงห์งาม - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ออกแบบจากโจทย์สำคัญอย่าง “การทำกิจกรรมส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะ” โดยทีมได้ทำการค้นคว้าตามพฤติกรรมผู้ใช้งานและแบ่งออกเป็น 4 รูปแบบคือ Chat Relax Eat และ Work ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่แบ่งสัดส่วนการใช้งานตามวัตถุประสงค์ของผู้ใช้ที่แตกต่างกัน รองรับสรีระการนั่ง การนั่งเอน การนั่งกึ่งนอน ทำให้ผู้ใช้หลายคนสามารถมาร่วมกันแชร์กิจกรรมต่างๆ ภายในพื้นที่เดียวกันได้

 

3. SE[AT]QUECE ผลงานโดย ณัฐนนท์ จำลองราษฎร์ และ Koki Yoshimoto – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

เฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่รองรับการใช้งานสำหรับผู้ใช้ที่นั่งรอเพื่อไปต่อ ด้วยกระบวนการค้นคว้าข้อมูลจากการลงพื้นที่จริงบริเวณป้ายรถเมล์ต่างๆ ทำให้ได้ข้อสรุปถึงรูปแบบการนั่งและการเตรียมตัวเคลื่อนย้ายสู่จุดหมายต่อไป จึงได้นำข้อมูลนี้มาออกแบบเป็นเก้าอี้ที่รองรับทั้งการนั่งเต็มตัว การยืนพิง นั่งเล่น นั่งอ่านหนังสือ จัดทำตัวต้นแบบผ่านโปรแกรม parametric เพื่อให้ได้แบบที่มีความสมบูรณ์ เกิดเป็นเก้าอี้แบบที่มีความสมดุล นั่งได้หลายรูปแบบ มีอัตราส่วนที่เหมาะสม ที่นั่งจึงรองรับผู้ใช้ได้หลากหลาย เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ยังเปิดโอกาสให้สามารถแก้ไขและนำไปปรับใช้กับส่วนอื่นๆ เช่น พลาซ่า อาคารสำนักงาน หรือศูนย์ศิลปวัฒนธรรมของโครงการ One Bangkok ได้อีกด้วย

 

4. RIBBON FLOW ผลงานโดย ฐิฌาพร โลหุตางกูร, ณรงค์ฤทธิ์ รักไทย และ ณัฐวัฒน์ ปานนิยม – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

จากพฤติกรรมการนั่งที่เชิญเชื้อให้ผู้คนที่แตกต่างกันเข้ามารวมตัวและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน จึงนำไอเดียมาจาก “ริบบิ้น” ที่มีลักษณะเป็นเส้นสาย ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน ร่วมพบปะพูดคุย เชื่อมต้นไม้ทั้งสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกัน และใช้จุดเด่นอย่างเรื่องของความโค้งเข้ามาเป็นไฮไลท์ดึงดูดสายตา นอกจากเฟอร์นิเจอร์จะออกแบบมาเพื่อรองรับการนั่งแล้ว ยังมีส่วนรองรับอื่นๆ อย่างการยืนพิงพักคอยหรือหลบแดดร้อน ส่วนของเส้นสายที่อยู่ด้านบนจึงทำหน้าที่เป็นร่มเงาและเป็นส่วนกั้นเพื่อเว้นระยะห่างและแบ่งพื้นที่การใช้งานอย่างลงตัว

 

5. THE SPECTRUM ผลงานโดย พชรภา พิพัฒน์นัดดา, ณิชนันท์ กาศิเษฎาพันธ์ - คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ อรญา คุณากร - คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การออกแบบจากโจทย์สำคัญอย่าง “ที่นั่งแบบไหนจะเชิญชวนให้ผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกอาคาร” เมื่อพิจารณาจากปัจจัยอย่างเรื่องของสภาพอากาศที่ร้อน เป็นเหตุให้ผู้คนเลือกใช้ชีวิตอยู่แต่ภายในอาคาร ปัจจัยนี้นำมาพัฒนาเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ชวนให้ผู้ใช้งานได้มีโอกาสใช้เวลากับตัวเองและธรรมชาติรอบตัว ด้วยเก้าอี้ที่มีส่วนกันแสงแดดด้านบนทำจากวัสดุอะครีลิคติดไดโครอิกฟิล์ม ที่ให้แสงที่ตกกระทบนั้นแตกต่างไปตามแต่ละช่วงเวลา ทั้งยังเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ตั้งใจให้ผู้ใช้งานทุกเพศทุกวัยสามารถเข้ามาสัมผัสประสบการณ์ได้ภายในพื้นที่ One Bangkok

 

6. SEE-KLONG กอไผ่ นนทเปารยะ ณัฏฐภพ วิลาวัณย์วจี พลนาวี ตรีถัน - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การออกแบบที่ประกอบขึ้นจากคำสองคำคือ Seesaw ที่แปลว่าไม้กระดก และ Klong ที่ทับศัพท์จากคำว่าคลองในภาพษาไทย นำแนวความคิดของไม้กระดกมาประยุกต์ใช้กับรูปทรงของ “เรือสำปั้นสวน” หรือเรือค้าขายตามตลาดน้ำในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์จึงมีลักษณะคล้ายกับไม้กระดกสองฝั่งที่ชวนให้คนแปลกหน้ามานั่งร่วมกันเพื่อให้เก้าอี้นี้สมดุลขึ้นได้ เส้นสายแบบโค้งทำหน้าที่เป็นการเชื่อมผู้คนเข้าหากันและสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันภายในพื้นที่ เฟอร์นิเจอร์เลือกออกแบบจากวัสดุที่ทำจากขยะพลาสติกที่พบทั่วไปในลำคลอง เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาขยะภายในคลอง ผลงานนี้จึงสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของคลองในอดีตสู่การเป็นเฟอร์นิเจอร์ในบริบทร่วมสมัย

 

7. แด่เพื่อนที่(ไม่)รู้จัก (FOR THE FRIEND WE HAVEN’T MET YET) ผลงานโดย กฤตธี วงศ์มณีโรจน์ และ วิภพ มโนปัญจสิริ – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบด้วยการแบ่งลักษณะการใช้งานเป็น 3 ระดับ คือระดับใกล้ชิด (0.6 เมตร) ระดับส่วนตัว (0.5-1.2 เมตร) ระดับเข้าสังคม (1.2-3 เมตร) และระดับสาธารณะ (3-7 เมตร) กับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถตอบรับกับลักษณะการใช้งานได้ทุกแบบภายในพื้นที่เดียวกัน เกิดเป็น “ม้านั่ง” ที่ทั้งมีหน้าตาเป็นมิตรต่อการเข้าใช้งาน เอื้อให้เกิดความสบายในการนั่ง และอยู่ในบริบทที่เหมาะสม เพื่อเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาใช้งานร่วมกันได้ การเป็นพื้นที่พบปะแห่งใหม่ทำให้ม้านั่งตัวนี้รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งการนั่งกินอาหาร การพบปะพูดคุย ไปจนถึงการนั่งเพื่อรับชมศิลปะการแสดงต่างๆ ด้วยการออกแบบที่มีลักษณะเป็น “การล้อมแห่งกิจกรรม (Cluster of Gathering)” ที่สร้างสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะได้อย่างพอดี

 

8. B3X ผลงานโดย พันธ์วิรา เงาประเสริฐ, ทัดตะวัน ทัศน์กระแส และ รัตนาภรณ์ เลิศวิบูลย์กิจ – คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การออกแบบการนั่งอย่างมีความหมาย ในบริเวณที่พร้อมที่จะเป็นทั้งการต้อนรับและบอกลา ให้ผู้ใช้งานเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระระหว่างทางสัญจรและตัวอาคาร จึงมีการออกแบบที่นั่งให้ตอบโจทย์คนทุกวัย โดยกำหนดรูปแบบการนั่ง 3 แบบคือ นั่งเต็มตัว/ กึ่งนั่งพร้อมยืน/ ยืน โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเด็ก วัยรุ่นและผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ลักษณะดีไซน์ของเฟอร์นิเจอร์ได้ถอดมาจากเส้นทางการเดินทางโดยรถไฟฟ้า ปรับสู่งานออกแบบสามสีคือ แดง น้ำเงิน เหลือง ภายใต้แนวคิด “สามเส้น สามสาย สามกลุ่มผู้ใช้” โดยวัสดุที่เลือกใช้เป็นวัสดุรีไซเคิลทั้งหมด อาทิ ไม้ (เป็นแกนใน) แก้ว (บดละเอียดเข้าเตาหลอมและขึ้นรูปตามแบบ) พลาสติก HDPE หรือพลาสติกขุ่นที่นำมาบดเข้าเครื่องหลอมและขึ้นรูป

 

9. A:R (Around) ผลงานโดย ณัฐพล สุดโต ศิรชัช, เส็งหนองแบน และ ศุภกร จงถิรวงศ์ - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

จากแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เฟอร์นิเจอร์นั้นสามารถนั่งไปด้วยและเล่นไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน จึงคำนึงถึงผู้ใช้งานกับบริบท (user + context) หรือการทำให้ผู้ใช้เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับบริบทที่กำหนดขึ้น นั่นคือการนั่งและบ่อน้ำที่อยู่ในพื้นที่ โดยทุกคนสามารถใช้งานร่วมกันได้ เป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายระหว่างพื้นที่ว่างและบริบท เกิดเป็นที่นั่ง(เล่น) ที่เมื่อผู้ใช้นั่งแล้วจะดันอากาศไปยังบ่อน้ำ ทำให้เกิดเอฟเฟกต์คล้ายน้ำพุ ซึ่งมาพร้อมกับฟังก์ชั่นเรื่องการช่วยลดความร้อนในพื้นที่และเพิ่มออกซิเจนให้กับแหล่งน้ำ โดยนำมาจัดในวางพื้นที่ที่มีระดับแตกต่างกันออกไป มีการจัดแบบหันหากัน (เพื่อพูดคุย) ครึ่งวงกลม (เพิ่มระยะห่าง) และ บิดองศา (เปิดมุมมอง)

 

10. SITTING SMOOTH ผลงานโดย กำแพง รามสูต - คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อภิญญา สิทธิสงคราม - คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบโจทย์ลักษณะการใช้งานทั้ง 4 รูปแบบ ทั้งการนั่งสบายเพื่อดูความเคลื่อนไหวที่แวดล้อม การนั่งแบบชั่วคราวในลักษณะกึ่งนั่งกึ่งยืน การนั่งพัก และการนั่งเพื่อตอบรับกับการเล่นของเด็ก ด้วยความสนใจดังกล่าวนี้ จึงออกแบบเฟอร์นิเจอร์เพื่อการนั่งที่เติมเต็มพื้นที่ว่างให้มีชีวิตและเอื้อให้เกิดการสร้างปฏิสัมพันธ์ นำลักษณะของเนินและโพรงเข้ามาใช้ในการออกแบบ ปรับขยายตัวมวลด้านในของเฟอร์นิเจอร์ให้รองรับต่อการใช้งานของพื้นที่ ผู้ใช้สามารถเลือกนั่งตรงหัวท้ายของชิ้นงาน เด็กเล่นสามารถลอดเล่นในส่วนด้านล่าง มีการพิจารณาออกแบบโดยเลือกใช้สีส้มเพื่อความกระปรี้กระเปร่าและกระตือรือร้น ทำให้พื้นที่มีสีสันมากขึ้น และเลือกใช้วัสดุอย่างพลาสติก LLDPE เพราะไร้สารตกค้าง เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานทุกคน

Back to top