Workshop Note 03 - Research / Data Collection & Storytelling

การวิจัยและจัดเก็บข้อมูลเพื่อการเล่าเรื่อง โดย STUDIO150 และ THINKK studio

ตลอดกระบวนการทำงานออกแบบควรมีการบันทึกข้อมูลไว้สม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบภาพถ่าย สเก็ตช์ หรือวิดีโอ

การแสดงนิทรรศการเป็นการสร้างประสบการณ์ร่วมและบทสนทนาระหว่างผลงานและผู้ชม ซึ่งกระบวนการเก็บข้อมูลระหว่างทางจะช่วยให้เกิดการ “connect the dot”

ข้อมูลที่ได้ระหว่างการทำงาน สามารถต่อยอดเป็นมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของหนังสือ โปสเตอร์ ฯลฯ ได้ต่อไป

 

การเวิร์กช็อปครั้งที่ 3 สำหรับ 10 ทีมผู้เข้ารอบโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” จัดขึ้นในวันที่ 17 กันยายน 2565 ในครั้งนี้มีวิทยากรคนสำคัญอย่าง STUDIO150 สตูดิโอออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการออกแบบข้อมูล ออกแบบกราฟิก เเละงานวิจัยเชิงออกแบบ ก่อตั้งโดย พัด–พัชร ลัดดาพันธ์ และ เป้–ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช  ร่วมด้วย เดย์–เดชา อรรจนานันท์ จาก THINKK Studio ที่มาร่วมกันแชร์ประสบการณ์ตรงจากการทำงานผ่านโปรเจกต์ต่าง ๆ ทั้งนิทรรศการ หนังสือ จนถึงการทำสื่อข้ามสาขาไปยังฝั่งแฟชั่น

 

เริ่มต้นโดยการแชร์ความรู้จาก STUDIO150 ที่คัดเลือกโปรเจกต์ต่าง ๆ ที่พวกเขาได้มีส่วนร่วมมาแชร์เบื้องหลังการทำงานให้กับผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีมได้ฟังกัน

 

 

 

 

Case Study 1: Tiger City

เริ่มจากนิทรรศการ Tiger City ที่วิทยากรได้แสดงวิธีการทำงานในการเก็บข้อมูลและการพัฒนาเป็นข้อมูลที่จัดแสดงในนิทรรศการ การจัดการข้อมูลให้เข้ากับเรื่องราว การติดตั้งสื่อให้เข้ากับพื้นที่การจัดแสดงงาน โดยเฉพาะในประเด็นของการสะสมข้อมูลที่เกิดขึ้นตลอดกระบวนการทำงาน เพื่อนำไปสู่การสร้างความหมายอื่น ๆ โดย พัดและเป้ ได้ให้คำแนะนำว่าทั้ง 10 ทีมควรจะคัดเลือกและจัดเก็บวัตถุจัดแสดงต่าง ๆ เพื่อนำมาโชว์ในนิทรรศการแสดงผลงานของตัวเอง ที่สำคัญคือเรื่องของการสร้างประสบการณ์ในการเข้าชม สร้างบทสนทนาของผู้ชมร่วมกัน ต้องมีการเชื่อมต่อ หรือ “connect the dot” ของเรื่องราวที่ต้องการนำเสนอได้

 

 

 

 

Case Study 2: City Material

โปรเจกต์ที่สองคือหนังสือ City Material ผลลัพธ์ของการวิจัยเรื่องการนำขยะในเมืองมาพัฒนาให้เป็นวัสดุในการออกแบบ ริเริ่มโดย THINKK Studio และ STUDIO150 ที่ร่วมกันทำวิจัยว่าวัสดุเหลือใช้หรือขยะที่ต้องทิ้งนั้นสามารถสะท้อนความเป็นกรุงเทพฯ ได้อย่างไรบ้าง นอกเหนือจากนิทรรศการแล้วยังมีการแสดงกระบวนการในรูปแบบของหนังสือ เพื่อทำหน้าที่อธิบายความสำคัญของวัสดุ และแสดงกระบวนการทำงานขั้นตอนต่าง ๆ โดยมีเครื่องมือคือการหาข้อมูลเบื้องต้นจากอินเทอร์เน็ต ร่วมหาผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายในเล่มยังมีการแสดงตัวอย่างแผนภาพเส้นทางการจัดการวัสดุ

 

“ถ้ามีกระบวนการวิจัย เราจะเห็นถึงเหตุของการเกิดสิ่งหนึ่งๆ ได้ จะทำให้งานสมบูรณ์หรือกลมกล่อมมากขึ้น” - STUDIO150

Case Study 3: PDM Handbook

ต่อมาคือโปรเจกต์หนังสือ PDM Handbook หนังสือที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับคุณภาพของสินค้าอย่างเสื่อ PDM ซึ่งถูกนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิกที่แสดงให้เห็นกรรมวิธีการผลิต ทีมงานได้ไปดูขั้นตอนถึงที่โรงงานเพื่อเก็บข้อมูลการผลิต บันทึกแพทเทิร์นของการทอเสื่อ เพื่อนำข้อมูลมาเสนอเป็นงานกราฟิกที่ทำให้คนเข้าใจตัวสินค้ามากขึ้น มีการเลือกใช้ภาพที่เข้าใจง่ายเพื่อเล่ากระบวนการทำงาน 

 

 

 

 

Case Study 4: Philip Huang - Indigo World

โปรเจกต์สุดท้ายคือ Philip Huang - Indigo World แบรนด์เสื้อผ้ามัดย้อมที่ผลิตด้วยเทคนิคดั้งเดิมผสานเข้ากับความสวยงามแบบร่วมสมัย คอลเลกชันที่ STUDIO150 ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการนำเสนอความเป็นมาของ “คราม” ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ตั้งแต่เรื่องประวัติของการย้อมคราม จนถึงการใช้งานในปัจจุบัน โปรเจกต์นี้แสดงให้เห็นถึงการนำเรื่องต้นทางมาสร้างองค์ประกอบทางการออกแบบ (design element) เพื่อพัฒนาเป็นองค์ประกอบเชิงการตกแต่ง (decorative element) ในรูปแบบของโปสการ์ดเพื่อสร้างให้เกิดความเข้าใจทางข้อมูลมากขึ้น 


 

การนำเสนอโปรเจกต์ต่าง ๆ ของ STUDIO150 แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของกระบวนการและเครื่องมือในการจัดเก็บข้อมูล และแม้ว่าทั้ง 10 ทีมอาจมีเครื่องมือในการค้นคว้าที่แตกต่างกันไป แต่สิ่งที่สำคัญคือการสังเกตพฤติกรรมการใช้งานจริงของผู้ใช้เฟอร์นิเจอร์สาธารณะ ค้นคว้าและบันทึกข้อมูลที่ได้มาอย่างเป็นระบบ บันทึกคอมเมนท์ที่ได้รับในทุก ๆ ครั้งเพื่อนำมาพัฒนากระบวนการออกแบบ เมื่อจัดแสดงผลงานสมบูรณ์ ผู้เข้าชมจะได้เห็นที่มาที่ไปและความสำคัญของตัวผลงาน


 

การบรรยายส่วนที่ 2 เดย์–เดชา อรรจนานันท์ จาก THINKK Studio ขยายความเพิ่มเติมถึงความหมายของกระบวนการรีเสิร์ช ว่าครอบคลุมตั้งแต่การสเก็ตช์ การพัฒนาโมเดล เพื่อเป็นกรอบทางความคิดในการทำงานและการพัฒนาตัวต้นแบบ ประกอบการตัดสินใจอย่างมีพื้นฐานและมีทิศทาง เพื่อไปสู่ปลายทางที่ถูกต้อง 

โดยได้มีการแชร์ตัวอย่างกระบวนการค้นคว้าของนักออกแบบชั้นนำระดับโลก ทั้งในส่วนของการออกแบบผลิตภัณฑ์และผลงานสถาปัตยกรรม 

 

 

 

Case Study 5: Stefan Diez

Stefan Diez นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ชาวเยอรมัน ที่ชอบทำตัวต้นแบบด้วยการขึ้นโมเดลจากวัสดุที่หาได้ง่ายอย่างเช่นกระดาษลัง ไปจนถึงวัสดุขั้นสูงที่เหมาะต่อการทดสอบการใช้งานจริง เป็นการทดลองเพื่อค้นหาความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการ

 

 

 

 

Case Study 6: NENDO 

สตูดิโอ NENDO เน้นการสเก็ตช์กระบวนการผลิตหรือการแก้ปัญหามากกว่าสเก็ตช์ผลลัพธ์ปลายทาง โดยสเก็ตช์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการค้นคว้ายังได้สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการนำมาผลิตเป็นหนังสือเพื่อจัดจำหน่ายอีกด้วย

 

 

 

 

Case Study 7: Roman & Erwan Bouroullec 

การทำงานของ Roman & Erwan Bouroullec ทีมผู้ออกแบบสมาร์ททีวีของ Samsung ภายใต้โจทย์ที่ว่า ผลงานนี้จะไม่เป็นแค่ทีวี แต่เป็นพื้นที่ของการแสดงงานศิลปะ ขั้นตอนการพัฒนาจึงมีการทดลองหลายแบบเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องความหนา-บางของทีวีแบบเดิม ๆ จากความซับซ้อนถูกทำให้ง่ายขึ้น จนไปถึงกระบวนการผลิตที่สามารถทำเป็นสินค้าได้จริง ภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการออกแบบได้รับการนำมาทำเป็นนิทรรศการ โปสเตอร์ และรวมเล่มเป็นหนังสือ

 

ตัวอย่างจากนักออกแบบระดับโลกที่ THINKK Studio ได้นำมาแชร์ให้กับผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีมฟัง เป็นการแสดงให้เห็นถึงรูปแบบการบันทึกไอเดียสารพัดที่เกิดขึ้นระหว่างการพัฒนาผลงาน โดย เดย์ได้แนะนำให้แต่ละทีมลองเลือกเครื่องมือนำเสนอเพื่อสร้างความเข้าใจ อธิบายหรือสื่อสารข้อมูลที่คิดหรือออกแบบได้ดีที่สุด อาจเป็นภาพถ่าย ภาพสเก็ตช์ ไดอะแกรม งานอินโฟกราฟิก หรือการออกแบบพาราเมตริกซ์ต่าง ๆ 

 

สำหรับในช่วงท้ายของการเวิร์กช็อปครั้งที่ 3 นี้ ทั้ง 10 ทีมได้มีการนำเสนอความคืบหน้าและปัญหาที่พบร่วมกับพี่เลี้ยงนักออกแบบ เพื่อรับฟังคอมเมนท์และข้อแนะนำในการนำไปพัฒนาผลงานต่อไป

Back to top