Workshop Note 04 - Another Furniture
ค้นหาความหมายและความหลากหลายของเฟอร์นิเจอร์สาธาณะในบริบทร่วมสมัย
การเวิร์กช็อปครั้งที่ 4 สำหรับ 10 ทีมผู้เข้ารอบโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” จัดขึ้นในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ในครั้งนี้เป็นการบรรยายในประเด็นเรื่อง “เฟอร์นิเจอร์สาธารณะ” ที่ว่าด้วยความหมายและบทบาทของเฟอร์นิเจอร์ที่ถูกใช้งานเพื่อรองรับความหมายที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ โดย เดย์–เดชา อรรจนานันท์ และ พลอย–พลอยพรรณ ธีรชัย จาก THINKK Studio
การบรรยายในครั้งนี้เริ่มต้นจากคำถามที่ง่ายที่สุดอย่าง “ความหมายของเฟอร์นิเจอร์คืออะไร” โดยนักศึกษาแต่ละคนได้มีการแสดงความคิดเห็นร่วมกัน โดยสรุปแล้ว เฟอร์นิเจอร์ คือ วัตถุที่มีความสัมพันธ์กับร่างกายของมนุษย์ ด้วยรูปทรงและขนาดที่แตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญคือจะต้องช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้งาน เมื่อประกอบกันแล้วจะสร้างความหมายให้กับพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือร้านอาหาร ซึ่งความหมายของเฟอร์นิเจอร์ยังครอบคลุมถึงสิ่งของเพื่อตกแต่งได้อีกด้วย
ทาง Thinkk Studio ได้แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับบทบาทของเฟอร์นิเจอร์ที่หลากหลายไปตามบริบท พร้อมยกตัวอย่างประกอบที่น่าสนใจดังนี้
01 Furniture as Architecture
1.1 Cafe of the MUDAM ออกแบบโดย Ronan & Erwan Bouroullec
Photo Source: https://artsandculture.google.com/asset/mudam-café-ronan-erwan-bouroullec/
เฟอร์นิเจอร์โต๊ะขนาดใหญ่ที่มีการออกแบบให้โครงสร้างเสาและขาโต๊ะคือสิ่งเดียวกัน ด้วยคาเฟ่เองที่ถือเป็นพื้นที่ย่อยในพื้นที่ใหญ่ ผลงานนี้ออกแบบโดย Ronan & Erwan Bouroullec ส่วนโครงสร้างหลังคาเป็นโมดูล่าร์ประกอบกันเป็นชิ้นๆ ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล เฟอร์นิเจอร์ได้โอบรับผู้ใช้งานเหมือนนั่งอยู่ใต้โต๊ะขนาดใหญ่
1.2 Luna architecture lounge ออกแบบโดย Claesson Koivisto Rune
Photo Source: https://www.claessonkoivistorune.se/projects/luna/
เมื่อพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เฟอร์นิเจอร์ใหญ่สีแดงชิ้นนี้ได้รับการเจาะรูเพื่อให้ผู้ใช้นั่งแล้วสามารถขาแตะกับพื้นได้ ลักษณะเหมือนกับโซฟาที่มีที่วางเท้า ส่วนด้านบนเจาะรูเป็นช่องแสงในพื้นที่ เพิ่มฟังก์ชันห้อยโคมไฟได้
1.3 XS architecture vs XL architecture ออกแบบโดย Worapong Manupipatpong
Photo Source: https://www.dezeen.com/2009/07/13/xs-architecture-vs-xl-furniture-by-worapong-manupipatpong/
เฟอร์นิเจอร์ที่ถือเป็นงานทดลองซึ่งคาบเกี่ยวระหว่างความเป็นเฟอร์นิเจอร์และงานสถาปัตยกรรม มีการเล่นระดับและบันไดที่ชวนให้ผู้ใช้งานปีนขึ้นเพื่อลองใช้งานได้อย่างหลากหลาย ผลงานชิ้นนี้สามารถมองว่าเป็นประติมากรรมได้ด้วยเช่นกัน และยังสามารถปรับเปลี่ยนการจัดวางให้เข้ากับแต่ละพื้นที่จัดแสดงได้
02 Furniture as Sculpture
2.1 Ondine ออกแบบโดย Michael Bihain
Photo Source: https://www.bihain.com/ondine
โปรเจกต์ Ondine ผลงานเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่มาพร้อมกับรูปทรงอิสระดูลื่นไหล วิธีคิดของนักออกแบบสะท้อนให้เห็นถึงการคิดอย่างเป็นระบบ มีการออกแบบแต่ละชิ้นส่วนอย่างละเอียด และการคำนวณข้อต่ออย่างรอบคอบ เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนเป็นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแนวยาว หรือแบบกลม
2.2 Amada sculptural bench ออกแบบโดย Matthias Pliessnig
Photo Source: https://www.matthias-studio.com/
ความน่าสนใจของผลงานชิ้นนี้คือการจัดการกับวัสดุธรรมชาติอย่างไม้โอ๊คดัดด้วยการอบไอน้ำ จัดวางบนโครงสร้างที่มีความประณีตค่อนข้างสูง เป็นการทำงานที่เกิดจากความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์และช่างฝีมือผลิต นักออกแบบนำไอเดียของรูปทรงมาจากคุณสมบัติของของเหลว ไหลลื่น เป็นอิสระ มีเลือกใช้วัสดุเช่นไม้ไผ่หรือหวา ที่หาได้ง่าย ใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการตัดช่องไฟ การจัดระยะห่างจำนวนเส้นแต่ละช่วงที่เกิดขึ้นอย่างแม่นยำ
2.3 Circulaire bench ออกแบบโดย Pablo Reinoso
Photo Source: https://carpentersworkshopgallery.com/works/benches/circulaire-bench/
ผลงานที่ดูเหมือนงานประติมากรรมชิ้นนี้เป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่บางส่วนถูกบิดพันให้ดูยุ่งเหยิง ชวนเปิดประเด็นให้ผู้ที่พบเห็นได้ตั้งคำถามว่าผลงานชิ้นนี้เป็นงานออกแบบหรืองานศิลปะ ท้าทายกรอบแนวคิดเดิมเกี่ยวกับความเป็นเฟอร์นิเจอร์แบบทั่วไป
03 Furniture as Culture
3.1 Floating Market bench ออกแบบโดย Lê Long Vĩnh และ Huynh Thanh Quyen
เฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมท้องถิ่นและยังเป็นการออกแบบเพื่อชุมชนท้องถิ่น โดยนำวัฒนธรรมของการพายเรือในเวียดนามมาเป็นต้นทุนทางไอเดียการออกแบบ ใช้ไม้พายขัดกันสองอัน ให้ความรู้สึกถึงลักษณะการพายเรือในตลาดน้ำของเวียดนาม หมอนทำมือบนม้านั่งผลิตจากเส้นใยหวายธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมเวียดนาม
3.2 Plastic Classic ออกแบบโดย Pili Wu
Photo Source: https://www.dezeen.com/2010/01/04/plastic-classic-by-pili-wu/
เมื่อเก้าอี้พลาสติกที่พบเห็นได้ทั่วไปมาผสมผสานกับโครงสร้างเก้าอี้จากราชวงศ์ชนชั้นสูง ผลงานที่ชวนสำรวจความหมายของคุณค่าและมูลค่าใหม่ของเฟอร์นิเจอร์ในบริบทร่วมสมัย ออกแบบโดย Pili Wu จากไต้หวัน นักออกแบบที่นำมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของไต้หวันมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบชิ้นงาน
3.2 Binta armchair ออกแบบโดย Philippe Bestenheider
Photo Source: https://www.dezeen.com/2009/04/23/binta-armchair-by-philippe-bestenheider-for-moroso/
เก้าอี้เท้าแขนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการแต่งกายของชาวแอฟริกันนักออกแบบชาวสวิส Philippe Bestenheider โครงสร้างมาจากเก้าอี้ไม้แกะสลักแบบแอฟริกันดั้งเดิม ส่วนเบาะตกแต่งด้วยการใช้ลายผ้าท้องถิ่นของชาวเซเนกัลมาเย็บปะติดปะต่อกัน มีการปรับดีไซน์ด้วยการทำให้เหมือนเก้าอี้ที่เพิ่งถูกเป่าลมใหม่
หลักการทำงาน 5 แกนของ THINKK studio
จากตัวอย่างต่างๆ ที่ได้นำเสนอ แสดงให้เห็นถึงบทบาทที่เปลี่ยนไปของเฟอร์นิเจอร์สาธารณะ ที่ค่อยๆ หลอมรวมไปกับสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายใน การออกแบบผลิตภัณฑ์ งานสถาปัตยกรรม ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนของสิ่งที่เรียกว่า “design factor” หรือปัจจัยที่ส่งผลต่อการออกแบบที่แตกต่างกันออกไป เมื่อบริบทการออกแบบเปลี่ยน จะนำไปสู่พฤติกรรมหรือรูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
กรณีศึกษาเพิ่มเติมจากผลงานของ THINKK Studio
CS01: Batten
จากโจทย์ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่กำหนดว่าต้องเป็นไม้สักและเหมาะสำหรับการใช้งานภายนอกเท่านั้น ได้นำมาเป็นแรงบันดาลใจในการตั้งต้นคิดงาน เมื่อสำรวจลักษณะของการใช้งานไม้สักภายนอก พบว่ามีการใช้งานเพื่อเป็นไม้ระแนง ไม้พื้น ประกอบแบบมีช่องเพื่อระบายอากาศและความชื้น จนเกิดเป็นผลลัพธ์เฟอร์นิเจอร์เก้าอี้ที่เก็บลักษณะของไม้สักท่อน นำมาบรรจุไว้ในที่นั่ง ที่พิง พนักแขน เพื่อทำให้แนวคิดที่กำหนดไว้ชัดเจนยิ่งขึ้น
CS02: ARMS chair
การออกแบบเก้าอี้ที่เน้นไปที่พฤติกรรมการใช้งาน จากการสังเกตพฤติกรรม “การเท้าแขน” ของผู้ใช้งาน ซึ่งบ่งบอกถึงอารมณ์ความรู้สึกในขณะนั้น เกิดเป็นผลงานเก้าอี้ที่มีที่เท้าแขนสองระดับ คือเท้าแขนส่วนพนักพิงและส่วนที่เท้าแขนไม้
CS03: R chair
จากปัจจัยทางวัฒนธรรมและการใช้งานที่ต้องดีขึ้นกว่าเดิม นำมาตีความหมายใหม่ให้กับเก้าอี้แขนโค้งล้านนาที่ใช้กันมากในภาคเหนือ รูปทรงมีข้อจำกัดหลายด้าน ทั้งจากวัสดุไม้ ซ้อนหลายตัวไม่ได้ ใช้งานกลางแจ้งไม่ได้ ได้นำมาเป็นความท้าทายที่ออกแบบเก้าอี้ใหม่ขึ้นมาโดยการเก็บระยะการนั่งแบบเดิมเอาไว้ เปลี่ยนวัสดุเป็นอะลูมิเนียม ใช้งานกลางแจ้งได้ ใช้เชือกสีสันสดใส เพื่อสร้างทางเลือกในการเลือกใช้ให้เข้ากับแต่ละพื้นที่ที่เอาเก้าอี้ไปวาง
CS04: แจกัน Weight Vases
การคิดแจกันรูปแบบใหม่ที่เน้นเรื่องการใช้งานเป็นสำคัญ แบ่งหน้าที่เป็นสองส่วน คือส่วนที่ใส่น้ำที่หล่อจากคอนกรีตเพื่อเพิ่มมวลน้ำหนักให้ส่วนประคองดอกไม้สามารถมีน้ำหนักเบาได้ เป็นหนึ่งในผลงานที่ผ่านกระบวนการทดลองหลายครั้ง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ