Workshop Note 05- Production & Installation

เรียนรู้โลกของวัสดุ เบื้องหลังการผลิตและติดตั้งงานที่มีมากกว่าที่คิด

 

การเวิร์กช็อปครั้งที่ 5 สำหรับ 10 ทีมผู้เข้ารอบโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” จัดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม 2565 เวิร์กช็อปในครั้งนี้พิเศษมากขึ้น ด้วยการพาทั้ง 10 ทีมไปเยี่ยมชมที่ศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุและการออกแบบ (Material & Design Innovation Center: MDIC) ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก และยังได้รับเชิญจากวิทยากรที่มากประสบการณ์อย่าง ตั๋ง - ธันวิน คำแย้ม จาก GEODESY STUDIO & DESIGN ที่มาบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังกระบวนการผลิตและติดตั้งผลงานประติมากรรมหลากหลายรูปแบบ 

 

เวิร์กช็อปในครั้งนี้เริ่มต้นที่ทั้ง 10 ทีมได้เดินชมศูนย์นวัตกรรมด้านวัสดุฯ อย่างใกล้ชิด โดยสามารถเข้าถึงการใช้งานได้ทั้งสองโซนคือ โซน Material ConneXion® แหล่งรวบรวมนวัตกรรม วัสดุต่างๆ ฐานข้อมูลที่รวบรวมวัสดุจากทั่วโลก และโซน TCDC Material Database ฐานข้อมูลรวบรวมวัสดุของประเทศไทยโดยเฉพาะ

 

Zone1: Material ConneXion®

ในโซนแรก Material ConneXion® จุดนี้ผู้เข้าใช้งานสามารถมาที่ Search Point เพื่อค้นหาวัสดุที่ต้องการนำไปผลิต มีวัสดุให้เข้าถึงได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโพลิเมอร์ เซรามิก โลหะ ไปจนถึงวัสดุเชื้อราเห็ดหรือสาหร่ายที่นำมาพิมพ์ได้ วัสดุแต่ละรายการจะได้รับคัดเลือกเข้าฐานข้อมูลจากการพิจารณาเกณฑ์ต่างๆ ประกอบ อาทิ เป็นวัสดุที่ผลิตได้จริงในเชิงอุตสาหกรรม เป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ เป็นวัสดุที่มีนวัตกรรมในการผลิต 

 

Zone2: TCDC Material Database

ในโซนที่สอง TCDC Material Database โซนนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุเฉพาะในประเทศไทย โดยแบ่งเป็นระดับภูมิภาคคือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคอีสาน หรือแยกประเภทตามย่านการค้าที่สำคัญของกรุงเทพฯ เช่น สำเพ็งหรือพาหุรัด ผู้ใช้งานที่สนใจสามารถสแกน QR code เพื่อเข้าถึงข้อมูลและรายละเอียดของวัสดุได้ นอกจากนี้ยังมีส่วนของแหล่งข้อมูลด้านเทรนด์ จากสำนักเทรนด์ชั้นนำของโลก ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์สีปี 2023 สามารถมาดู Pantone หรือเทรนด์ด้านแฟชั่นและวัสดุ สามารถเข้ามาอ่านหนังสือเทรนด์จาก NellyRodi ได้ เป็นต้น 

 

การเวิร์กช็อปในส่วนที่ 2 นี้ได้รับเกียรติจาก ตั๋ง - ธันวิน คำแย้ม จาก GEODESY STUDIO & DESIGN ที่มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับวัสดุและขั้นตอนการผลิตและติดตั้งงานในเชิงสามมิติให้กับทั้ง 10 ทีมได้ฟังกัน โดยความเชี่ยวชาญของตั๋งคือการติดตั้งประติมากรรมสามมิติ ซึ่งในที่นี้ครอบคลุมความหมายถึงงานศิลปะในเชิง Fine Art ประเภทประติมากกรม ซึ่งเป็นงานที่ถือเป็น Round Relief หรือเรียกว่า ประติมากรรมแบบลอยตัว สัมผัสได้จริง มีมิติครบ ตื้น ลึก หนา บาง 

 

ก่อนที่จะไปถึงกระบวนการของการติดตั้ง นักออกแบบเองจะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของวัสดุที่ใช้ในการผลิต ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้ดังนี้

 

  • โลหะ: เหล็ก สแตนเลส อะลูมิเนียม ทองเหลือง และทองแดง วัสดุแต่ละชนิดนี้ที่ออกมาจากโรงงานจะมีลักษณะเป็นแผ่น เป็นท่อกลม ท่อเหลี่ยม นัออกแบบสามารถเลือกใช้ให้เหมาะกับดีไซน์ที่สร้างขึ้น วัสดุโลหะสามารถเลือกใช้เครื่องมืออย่างเครื่องตัด CNC ที่จะช่วยเพิ่มเทคนิคให้กับชิ้นงานได้

 

  • ไฟเบอร์กลาส: ขึ้นรูปได้จากสารเคมีชนิดเหลว ใช้ตัวผสมเพื่อให้เกิดการแข็งตัวเป็นฟอร์มที่ต้องการสร้างขึ้นมาได้ กระบวนการผลิตเริ่มต้นจากการทำแม่พิมพ์ เมื่อหล่อของเหลวลงไปในแม่พิมพ์และขึ้นรูปเป็นของแข็ง ก็สามารถทุบแม่พิมพ์ทิ้ง เพื่อได้ฟอร์มที่ต้องการ

    ไฟเบอร์กลาสสามารถสร้างรูปทรงได้ทุกประเภท เพราะเป็นของเหลว มีข้อดีคือ สามารถทำให้วัสดุดูเหมือนเป็นวัสดุอื่น ในขั้นตอนการ Finishing ทำได้โดยการพิมพ์ลายหินอ่อนต่างๆ หรือทำให้ดูเป็นเหมือนโลหะ ถ้าหากเป็นงานภายนอกอาคาร สามารถใช้การเคลือบ (Coating) แลคเกอร์ 2k เพิ่มความทนทาน แต่มีข้อเสียคือ อายุการใช้งานจะอยู่ประมาณ 5 ปี 

 

  • ไม้จากธรรมชาติ: วัสดุที่มีหลายรูปทรง มีทั้งลักษณะเป็นแผ่น เส้นกลม เส้นเหลี่ยม ข้อจำกัดของไม้คือ ความแข็ง แต่นักออกแบบสามารถนำมาใช้สร้างฟอร์มได้ โดยการเลือกใช้ผสมกับวัสดุอื่น เช่น นำวัสดุอื่นมาครอบ 

 

  • อื่นๆ: แก้ว อะคริลิค ผ้า 

 

 

 

ขั้นตอนการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานปะติมากรรม

1. การออกแบบ

2. การทำแบบจำลอง ทดลองในเชิงเทคนิคเพื่อผลิตผลงานจริง

3. การสร้างผลงานจริง 

4. การขนส่ง ติดตั้ง 

 

ส่วนสำคัญอยู่ที่การแชร์ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับความจำเป็นของการทำแบบสามมิติ ก่อนเข้ากระบวนการผลิต เพราะเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถเห็นภาพรวมของผลลัพธ์ปลายทางที่ตรงกัน ตั้งแต่เรื่องของขนาด วิธีการติดตั้ง แนวการสะท้อน ทั้งการขึ้นโมเดลสามารถยังมีทางเลือกได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง 3D แล้วพิมพ์ออกมาเป็นไฟเบอร์ชิ้นเล็กๆ การได้เห็น Visual Impact สำหรับผลงานที่ติดตั้งในพื้นที่ภายนอกอาคาร การได้มองเห็นปัญหาล่วงหน้าก่อนการผลิตงานขนาดจริง 

 

ตั๋งได้คัดเลือกตัวอย่างการติดตั้งงานจริงของสตูดิโอมาเล่าให้ฟังถึงวิธีคิดเบื้องหลัง อย่างเช่นโปรเจกต์ภายในอาคาร ที่การติดตั้งต้องทำงานร่วมกับวิศวกรรม เข้าใจระบบอาคาร เพราะมีเรื่องการไหลของน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง การติดตั้งผลงานทรงโค้งจากวัสดุไฟเบอร์กลาส ที่ใช้การปิดทับด้วยโลหะและการพ้นสีทองแดงเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงกับงานออกแบบ ไปจนถึงโปรเจกต์ที่มีการติดตั้งวัสดุที่หลากหลาย ทั้งกระจกสแตนเลส โลหะสแตนเลส ไปจนถึงกล่องไฟ ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญหลากหลายด้านในการติดตั้งผลงานให้สำเร็จ

 

ในช่วงท้าย ผู้เข้าร่วมทั้ง 10 ทีมได้มีการตั้งคำถามและร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องวัสดุ อย่างเช่นเรื่องของข้อจำกัดของวัสดุพลาสติกหรือไฟเบอร์กลาส วิธีการเลือกวัสดุให้เหมาะสมกับงานออกแบบ หรือการแชร์รายการที่ต้องทำสำหรับนักออกแบบก่อนส่งให้ทีมผลิต ซึ่งวิทยากรก็ร่วมให้คำตอบจากประสบการณ์ตรง ทำให้ทุกคนที่เข้าร่วมในเวิร์กช็อปนี้ได้รับความรู้เกี่ยวกับวัสดุและการผลิตในเชิงลึกมากขึ้น เพื่อนำไปพัฒนาผลงานของตัวเองเป็นลำดับต่อไป

Back to top