Workshop Note 08 - Group Presentation
การนำเสนอไอเดียและพัฒนาการของงานออกแบบ
การนำเสนอไอเดียและพัฒนาการของงานออกแบบของ 10 ทีมผู้เข้ารอบโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 “Seatscape & Beyond” จัดขึ้นในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 โดยที่ในสัปดาห์นี้ นักศึกษาแต่ละทีมได้นำเสนอแนวคิดและแบบที่ได้รับการพัฒนาให้กับพี่เลี้ยงนักออกแบบ THINKK Studio และวิทยากรรับเชิญหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น คุณพัชร ลัดดาพันธ์ จาก STUDIO150, คุณสุทิศา พัฒนพานิช คุณภัทรพรรณ รักษ์กุลชน และทีมภูมิสถาปนิกจาก PLandscape, คุณสนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์ จาก Sanitas Studio, คุณธันวิน คำแย้ม จาก Geodesy Studio & Design และคุณจรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย จาก One Bangkok ที่มาร่วมโครงการตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
เพื่อนำข้อเสนอแนะไปพัฒนาผลงานก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตต่อไป
ในครั้งนี้ ทั้งส่วนของหน้าตางานออกแบบ การเลือกใช้วัสดุ ไปจนถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่คำนึงจากพฤติกรรมของผู้ใช้ในแต่ละบริบทและที่ตั้ง ทุกทีมมีการเปลี่ยนแปลงปรับเพิ่ม-ลดมากน้อยแตกต่างกันออกไป เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดก่อนนำไปพัฒนาในช่วงโค้งสุดท้ายและเริ่มเข้าสู่กระบวนการผลิตในช่วงปี 2566 ถึงที่จะถึงนี้
INVICI
ผู้ออกแบบ: ธฤต ไทยานนท์
ที่ตั้ง: R2 South F&B Spill-out Area
ผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะแนว “Suprematism” ที่ริเริ่มโดยศิลปินชาวรัสเซีย Kazimir Malevich มีแนวคิดสำคัญคือการนำเสนอความเป็นนามธรรม ไม่ยึดติดกับรูปทรง มีความลื่นไหล และเน้นที่ความรู้สึกเป็นสำคัญ
จากงานศิลปะสู่งานดีไซน์
เมื่อไอเดียจากงานศิลปะนำมาปรับใช้กับโลกแห่งการออกแบบ ผู้ออกแบบได้นำหลักการ Human Centric Design การดีไซน์โดยมีผู้ใช้เป็นศูนย์กลางมาออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะชิ้นนี้ โดยทำให้ผลงานเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติและพื้นที่บริบทโดยรอบให้ได้มากที่สุด ทั้งยังมีคุณสมบัติสำคัญ 3 ประการคือ XL Furniture / XS Architecture / Art Sculpture หมายถึงการเป็นได้ทั้งเฟอร์นิเจอร์ งานสถาปัตยกรรม และประติมากรรมศิลปะ ที่ร้อยเรียงเอาศิลปะ ธรรมชาติ และมนุษย์ในฐานะผู้ใช้งานมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว
หลังจากได้พัฒนารูปทรงของเฟอร์นิเจอร์ สิ่งสำคัญที่ตามมาคือเรื่องของฟังก์ชั่นการใช้งาน ทีม INVINCI
ให้ความสำคัญกับหลักการยะศาสตร์ ที่ผู้ใช้งานต้องรู้สึก “พอดี” กับสรีระของร่างกาย และเฟอร์นิเจอร์เองยังคำนึงถึงเรื่องบริบทในส่วนของพื้นที่ตั้งบริเวณทิศใต้ติดถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นส่วนของร้านอาหาร คาเฟ่ และห้างสรรพสินค้า ปัจจัยสำคัญอย่างการเดินเข้าออกของผู้คนในพื้นที่จึงส่งผลต่อการใช้งานและการออกแบบ ใส่ใจในเรื่องรายละเอียดแวดล้อมอย่าง Emergency ที่คำนึงถึงสถานการณ์การหนีไฟ ทำให้เว้นระยะเผื่อไว้ 6 เมตรเพราะไม่มองข้ามเรื่องความปลอดภัย
ในส่วนของการเลือกใช้วัสดุที่ตอบโจทย์เรื่องการมองเห็น (Visibility) และมิติ (Dimension) โดยรอบ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างผลงานและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง เพื่อนำเสนอในฐานะงานศิลปะที่สื่อสารกับผู้ใช้ได้รอบด้านไม่ว่าจะมองเห็นหรือเดินมาจากทิศทางไหน วัสดุเลือกใช้เป็นกระจกโลหะสแตนเลสและไฟเบอร์กลาสพ่นสี เพื่อให้เฟอร์นิเจอร์เพิ่มคุณสมบัติเรื่องการสะท้อนบริบทต่างๆ ที่แวดล้อมอยู่ในพื้นที่
THE CREW SEATSCAPE
ผู้ออกแบบ: พิมพ์ลภา ลักขณานุกูล, วริทธิ์ธร ทิอวน และ ธนภัทร สิงห์งาม
ที่ตั้ง: Civic Plaza Amphitheatre
การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่กำหนดโจทย์จากการทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของผู้ใช้งานที่เชื่อมโยงกับ “การนั่ง” ท่วงท่าและอากัปกิริยาของผู้คนเมื่อต้องนั่งในพื้นที่สาธารณะและการทำกิจกรรมส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา จึงได้เป็นไอเดียในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เพิ่มประสิทธิภาพในเชิงพื้นที่ได้มากที่สุด
C - Chat R - Relax E - Eat W - Work
ภายในส่วนพื้นที่ Amphitheatre ของโครงการวัน แบงค็อกนั้นก่อให้เกิดกิจกรรมที่ยึดโยงอยู่กับพื้นที่การนั่งที่หลากหลาย ท่าทางที่เกิดเวลาทำกิจกรรมต่างๆ อย่างการพูดคุย การพักผ่อน การกิน และการทำงาน จึงถูกนมาวิเคราะห์และเป็นต้นทุนทางแนวคิดในการออกแบบ ทีม The Crew Seatscape เลือกใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ขั้นบันไดของ Amphitheatre โดยออกแบบสิ่งที่เป็นระนาบ (Plane) ทั้งแนวตั้งและแนวนอน เพื่อแบ่งการใช้งานของพื้นที่และรองรับท่าทางของแต่ละกิจกรรมที่เกิดขึ้น
หลักเกณฑ์การออกแบบคือ “sound/ vision/ privacy” ของกิจกรรมนั้นๆ เช่น กิจกรรมการพูดคุยที่เกิดเสียงมากและการพักผ่อน ที่หลีกเลี่ยงการรับเสียจะต้องอยู่ห่างกัน เพื่อลดการรบกวนซึ่งกันและกัน ฟังก์ชั่นการใช้งานนี้ยังต้องคำนึงเพื่อพัฒนาแบบที่สร้างความสบายใจให้กับผู้ใช้งาน เพิ่มความเป็นส่วนตัว ระนาบที่สามารถโอบล้อมตามท่าทางและการเคลื่อนไหวเมื่อผู้คนเข้ามาใช้งาน โดยยังต้องคำนึงถึงเรื่องของความปลอดภัย เช่น การลบคมที่เกิดขึ้นด้วยการเพิ่มความโค้งมนในรูปทรงที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน การพัฒนาแบบยังสามารถเพิ่มสีสันที่ดึงดูดความสนใจเพื่อเพิ่มลูกเล่นและชวนให้รู้สึกน่าเข้ามาทำกิจกรรมต่างๆ กับเฟอร์นิเจอร์ ในส่วนของวัสดุเลือกใช้ไฟเบอร์กลาสด้วยเรื่องของความทนทานและสามารถผลิตตามรูปทรงโค้งมนที่ต้องการได้จริง
SE[AT]QUENCE
ผู้ออกแบบ: ณัฐนนท์ จำลองราษฎร์ และ Koki Yoshimoto
ที่ตั้ง: Shuttle Bus Stop The Forum
หนึ่งในโจทย์ที่ท้าทายของโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 "Seatscape & Beyond" สำหรับ Sit to transfer ทีมผู้ออกแบบใช้กระบวนการเก็บข้อมูลผ่านการสังเกตผู้คนที่รอรถตามจุดต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาบันทึกว่ามีท่าทางการยืนจนถึงนั่งในอัตราส่วน 6:1:3 หมายถึง 6 นั่ง 1 ยืนใกล้จุดรอ และ 3 ยืนใกล้ถนน
จากท่าทางและพฤติกรรมจึงนำมาเป็นแนวคิดในการต่อยอดเป็นผลงานเฟอร์นิเจอร์สำหรับนั่งคอยส่วนพื้นที่รอรถ ในลักษณะของเก้าอี้ขนาดยาวที่สามารถนั่งและยืนพิงเพื่อรอได้อย่างเหมาะสม มีที่นั่งหลายระดับคือที่นั่ง ที่นั่งต่ำ ที่นั่งสูง และส่วนพิงยืน ปัจจัยสำคัญอย่างเรื่องระยะความสูงและความกว้างจึงสำคัญ เก้าอี้ชิ้นนี้มีพื้นที่ด้านข้าง 80 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมกับร่างกายของคน
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับทีมนี้คือการเลือกผลิตด้วยเทคนิคการพิมพ์คอนกรีตสามมิติ โดยแบ่งเป็น 9 ชิ้น เพื่อให้ง่ายต่อการผลิตและขนประกอบในพื้นที่ ทั้งแต่ละชิ้นยังสามารถวางประกอบกันได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวเชื่อม เพิ่มความสวยงามให้กับผลงานด้วยไฟแอลอีดี
RIBBON FLOW
ผู้ออกแบบ: ฐิฌาพร โลหุตางกูร, ณรงค์ฤทธิ์ รักไทย และ ณัฐวัฒน์ ปานนิยม
ที่ตั้ง: Boulevard R3-Civic Plaza
เมื่อโจทย์ที่ได้รับคือ Sit to gather การออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ทำให้ผู้คนที่มีความหลากหลายเข้ามารวมตัวกันในพื้นที่ ทีมผู้ออกแบบได้เลือกลักษณะของ “ริบบิ้น” ที่มีความเคลื่อนไหวด้วยเส้นสายมาเป็นลักษณะของรูปทรงเฟอร์นิเจอร์ จากการนำเสนอแบบตั้งแต่ช่วงต้น ทีมได้เลือกใช้ริบบิ้นสีส้มเพื่อนำเสนอความหมายถึงวัน Harmony Day ของออสเตรเลียหรือวันที่ชาวออสเตรเลียเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายความถึงการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม การเคารพซึ่งกันและกัน และการที่ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม โดยมีกลุ่มผู้ใช้งานหลักของผลงานเป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ครอบครัว นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่โครงการ One Bangkok โดยต้องการให้ผลงานมีความเป็นแลนด์มาร์ค นำสององค์ประกอบที่ขัดแย้งกันอย่างความพริ้วไหวของริบบิ้นและความพอดีของกริด (grid) มาออกแบบ โดยยึดทางสัญจรของผู้ใช้งานเป็นหลัก
ตลอดระยะเวลาของการพัฒนาแบบ ทีม RIBBON FLOW ได้มีการศึกษาความเป็นไปได้ของงรูปทรงและการบิดพลิ้วของริบบิ้นที่กำลังเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ โดยอ้างอิงจากยิมนาสติกลีลา (Gymnastics) เพื่อหารูปแบบของความเป็นไปได้ที่ดีที่สุดในการนำมาต่อยอดส่วนของงานออกแบบ โดยผลจากการทดลองได้ความเคลื่อนไหวในสองลักษณะที่นำมาพัฒนาต่อ จึงได้จำลองดีไซน์ของแบบให้หันหน้าเข้าหากัน โดยใช้ไฟแอลอีดีเป็นตัวเชื่อมผลงานทั้งสองชิ้น ทีมนักออกแบบยังคำนึงถึงบริบทโดยรอบ เช่น ที่ตั้งที่มีต้นไม้โอบล้อม เส้นทางการสัญจร และการเข้าใช้งานของกลุ่มผู้ใช้ที่ครอบคลุมอย่างคนพิการหรือผู้สูงอายุ
THE SPECTRUM
ผู้ออกแบบ: พชรภา พิพัฒน์นัดดา, ณิชนันท์ กาศิเษฎาพันธ์ และ อรญา คุณากร
ที่ตั้ง: R1 Rooftop Garden (Level 8)
การออกแบบผลงานที่มีเป้าหมายเพื่อ “เปลี่ยนมุมมองต่อแสงแดดประเทศไทย” จากความร้อนของแสงแดดเมื่อออกมานอกพื้นที่อาคาร สู่ความเป็นไปได้ใหม่ สีสันทีแตกต่างที่สามารถเกิดขึ้นได้จากแสงแดด รวมไปถึงการไปเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คน จากภายในอาคารให้ออกมากลางแจ้งมากยิ่งขึ้น
พื้นที่ที่ดาดฟ้าของอาคารโครงการ One Bangkok ที่เป็นโจทย์ของทีม THE SPECTRUM ถือเป็นพื้นที่ที่ผู้ใช้งานอย่างพนักงานออฟฟิศเลือกออกมาใช้งานพื้นที่เพื่อสัมผัสกับธรรมชาติ ทั้งอากาศภายนอกอาคาร ลมที่พัด แสงแดดที่ส่องลงมา นับเป็นข้อดีสำหรับการนำธรรมชาติมาเป็นหัวใจหลักของการออกแบบ โดยกำหนดกลุ่มผู้ใช้งานเป็น “คนทุกคน” ซึ่งสอดคล้องกับชื่อทีมชื่อ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร มาจากที่ไหน ทุกคนสามารถเข้าใช้งานเฟอร์นิเจอร์นี้ได้อย่างเท่าเทียมกัน มาสนุกร่วมกันได้ทั้งหมดโดยไม่มีการแบ่งเฉดนั่นเอง
Create your new sunlight experiences.
จากเป้าหมายที่ตั้งไว้สู่การเลือกใช้วัสดุที่สื่อสารไอเดียได้อย่างดีที่สุด คำตอบคือ Dichroic Film ฟิล์มชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติสามารถเปลี่ยนแสงสีขาวเป็นสีสันต่างๆ ที่ไม่อาจคาดเดาได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ละตำแหน่งในแต่ละช่วงเวลา เฟอร์นิเจอร์ได้รับการพัฒนาแบบในรูปทรงของต้นไม้ เพื่อทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกเหมือนมานั่งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ โดยยังคงพัฒนารูปทรงของกิ่งก้านที่แตกแขนงออกมา เพิ่มความหลากหลายของกลุ่มใบและความแผ่ขยายที่เป็นไปใกล้เคียงกับต้นไม้ตามธรรมชาติให้ได้มากที่สุด
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการนั่งที่เป็นมิตรต่อกลุ่มผู้ใช้งาน ทีมนักออกแบบได้ไปค้นคว้ารูปแบบเฟอร์นิเจอร์ที่คนไทยใช้มาตั้งแต่โบราณอย่าง “แคร่” เรียกได้ว่าเป็นเฟอร์นิเจอร์กลางแจ้งที่มักอยู่ใต้ต้นไม้เสมอ จึงได้นำสิ่งนี้มาเป็นแรงบันดาลใจในการต่อยอดเป็นรูปทรงออร์แกนิก เลือกใช้วัสดุหวายเทียมที่ให้ความรู้สึกเหมือนวัสดุธรรมชาติ ทั้งยังทนทานต่อการใช้งานกลางแจ้ง ทีมนี้ยังคงต้องพัฒนาในส่วนของที่นั่งที่รองรับต่อการตกกระทบของแสงที่สะท้อนออกมาจาก Dichroic Film ในรูปแบบที่ผู้ใช้งานรับรู้เอฟเฟกต์ที่เกิดขึ้นพร้อมกับยังรู้สึกถึงการได้พักผ่อนในพื้นที่ท่ามกลางธรรมชาติ
SEE-KLONG
ผู้ออกแบบ: กอไผ่ นนทเปารยะ, ณัฏฐภพ วิลาวัณย์วจี และ พลนาวี ตรีถัน
ที่ตั้ง: Civic Plaza R1 Playscape
ผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่ริเริ่มจากการมองไปยังภาพใหญ่ของกรุงเทพ “Landscape of Bangkok” ในอดีต ว่าเคยเป็นสถานที่ราบลุ่ม มีต้นกำเกิดจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแตกแขนงหล่อเลี้ยงชีวิตของผู้คนผ่านแม่น้ำลำคลองหลายสาย มีชุมชนริมคลองที่เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการค้าขาย โดยองค์ประกอบคือแม่ค้าและลูกค้า เลยนำความรู้สึกของการแลกเปลี่ยนสินค้าไปสู่ Trust หรือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ สะท้อนผ่านรูปทรงของไม้กระดก การพึ่งพาของทั้งสองด้านให้เกิด Stable หรือ ความสมดุล ซึ่งสอดคล้องกับ “กระดูกงู” ชิ้นส่วนที่ช่วยสร้างความสมดุลของตัวเรือ
Go Beyond Seesaw
การออกแบบที่ต้องคำนึงถึงกลไก ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการทำไอเดียเป็นจริงขึ้นมาได้ ทีมผู้ออกแบบเลือกใช้อุปกรณ์สปริงเข้ามาเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการขยับ และยังนำแรงบันดาลใจจากเรือสัมปัน มาเป็นต้นทางความคิดในการออกแบบหลังคาที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อเฟอร์นิเจอร์แต่ละชิ้นเข้าหากัน ในส่วนของการนำเสนอ ทีม SEE-KLONG ต้องพัฒนาไอเดียในเรื่องของการใช้งานจริง ทั้งการเดินเข้าใช้งาน การลุง-นั่งระหว่างใช้งาน รวมถึงประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานที่ไม่อาจมองข้ามได้ นอกจากนี้ ยังต้องค้นคว้ามากขึ้นเกี่ยวกับการเลือกใช้วัสดุในการผลิตที่เหมาะสมอีกด้วย
แด่เพื่อนที่(ไม่)รู้จัก
ผู้ออกแบบ: กฤตธี วงศ์มณีโรจน์ และ วิภพ มโนปัญจสิริ
Location: Boulevard R3-R2
จากปัญหาที่ค้นพบเกี่ยวกับการใช้งานของเก้าอี้ในพื้นที่สาธารณะ ทั้งเรื่องของความไม่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน เช่น ระนาบที่ไม่พอดีต่อการนั่ง ความแข็งของวัสดุ ไปจนถึงเรื่องของความสวยงามที่ไม่ตอบโจทย์สุนทรียภาพ ทีมนักออกแบบจึงต้องการไอเดียที่ตอบคำถามว่า เมื่อ คน + (เก้าอี้) + พื้นที่ ทำอย่างไรให้เฟอร์นิเจอร์สาธารณะนั้นเป็นเหมือนสื่อกลางสานสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
หัวใจของเก้าอี้จะทำให้หัวใจของพื้นที่นั้นชัดขึ้น
ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของเฟอร์นิเจอร์คือบริเวณถนนวิทยุมุ่งหน้าสู่ Civic Plaza ผลงานจึงต้องประกอบขึ้นจากปัจจัยหลายประการ ทั้งเรื่องการสร้างความเข้าถึงที่น่าสนใจ การเคลื่อนไหวของผู้ใช้งานภายในพื้นที่สัญจนเพื่อเข้าถึง ผลงานจะต้องไม่กีดขวางและเป็นตัวช่วยกำหนดเส้นทางการไหลผ่านของผู้คนมากขึ้น เฟอร์นิเจอร์ยังต้องเสริมสร้างประสบการณ์ในการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่การคุยงาน การกินอาหาร ชมการแสดง การรวมกลุ่ม ทำกิจกรรมต่างๆ
การออกแบบจึงพัฒนามาจากเก้าอี้ที่มีลักษณะเส้นยาวต่อเนื่องสู่ “จุด - เส้น - ระนาบ” แบ่งลักษณะของเฟอร์นิเจอร์เป็นสามรูปแบบ คำนึงถึงสัดส่วนและอิริยาบทในการนั่ง ใช้หลัก Ergonomic Design เพื่อทำให้ผู้ใช้งานเกิดการนั่งในรูปแบบที่ต่างๆ กัน โดยส่วนที่พัฒนางานดีไซน์ใหม่นั้นตั้งใจให้ผู้ใช้มีอิสระในการนั่งที่แตกต่างออกไป เอื้อให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยกำหนดสี Gradient ของเก้าอี้ตามกิจกรรม เลือกใช้สีแดงเพื่อขับให้สีเขียวต้นไม้รอบๆ เห็นเด่นชัด ทำให้เก้าอี้มีชีวิตชีวาในช่วงเวลาเวลากลางวัน
B3X
ผู้ออกแบบ: พันธ์วิรา เงาประเสริฐ, ทัดตะวัน ทัศน์กระแส และ รัตนาภรณ์ เลิศวิบูลย์กิจ
ที่ตั้ง: Shuttle Bus Stop Zone 2
แนวคิดการออกแบบเฟอร์นิเจอร์บริเวณจุดรอรถบัส ในกลุ่ม Sit to Transfer คุณสมบัติของเฟอร์นิเจอร์จึงเป็นการใช้งานในระยะสั้น ชั่วคราว เป็นการรอเพื่อเดินทางต่อไปยังจุดหมายอื่น ผู้ใช้งานมีความหลากหลายและมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป ด้วยบริบทที่ตั้งบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า ทีมผู้ออกแบบเลือกกำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยรุ่นที่จะเข้ามาใช้งานภายในพื้นที่จำนวนมาก โดยทำการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมด้วยการถามความคิดเห็นผ่านฟีเจอร์ Story ในแอปพลิเคชันอินสตาแกรม เพื่อรวบรวมคำสำคัญที่สามารถสะท้อนตัวตนและความต้องการของผู้ใช้งานหลักกลุ่มนี้
คำสำคัญ 3 คำที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นเพื่อนำมาต่อยอดเป็นลวดลาย ได้แก่ Freedom วัยรุ่นเป็นวัยที่มีความอิสระ สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างต้องการ ทีมผู้ออกแบบจึงทำลวดลายที่มีความโค้งอิสระ Explore: วันรุ่นเป็นช่วงวัยแห่งการค้นหาและออกสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นการสำราจสิ่งที่เราชอบหรือไม่ชอบ หรือการเดินทางต่างๆ เป็นลวดลายเส้นสีส้ม และ Exciting: วัยรุ่นเติบโตมาเจอเรื่องราวใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้พบเจอ เจอเรื่องที่น่าตื่นเต้น จึงเป็นลวดลายแปรงสีสันต่างๆ
ในส่วนของรูปทรงได้ทำให้ทั้งสามชิ้นเชื่อมต่อเข้าหากันด้วยเส้นที่มีความโค้งเว้า มีลักษณะขึ้น-ลง โดยคำนึงถึงระดับความสูงการนั่งที่แตกต่าง รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ การนั่งหรือการนั่งกึ่งยืน เลือกใช้วัสดุส่วนนของแกนหลักเป็นอะลูมิเนียมล้อมด้วยไฟเบอร์กลาส ความหนาของผลงานคือ 30 ซใ. เพื่อรองรับน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม โดยคำแนะนำสำหรับการพัฒนาผลงานเพิ่มเติมคือการคำนึงถึงบทบาทการเป็นผลงานศิลปะในพื้นที่ และความโค้งมนของส่วนที่นั่งที่อาจไม่เอื้อต่อการใช้งานจริง
A:R (AROUND)
ผู้ออกแบบ: ณัฐพล สุดโต, ศิรชัช เส็งหนองแบน และ ศุภกร จงถิรวงศ์
ที่ตั้ง: Rama IV Rd. Open Lawn
หลังจากการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงดีไซน์ของเฟอร์นิเจอร์มาตลอดช่วงการพัฒนาแบบ ทีม A:R (AROUND) กับเฟอร์นิเจอร์กลุ่ม Sit to Play นั่งเพื่อให้เกิดการเล่น ภายใต้แนวคิด “ที่นั่งเล่นที่เกิดปฎิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้งานและบริบทโดยรอบ”
ทีมผู้ออกแบบยังคำนึงถึงปัจจัยหลักสำคัญคือเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่นั่งแล้วเอื้อให้เกิดกิจกรรมทางกาย (Body Action) ที่ต้องสร้างความเพลิดเพลินและเล่นร่วมกันได้แม้เป็นคนแปลกหน้า ดีไซน์ที่ได้รับการพัฒนามาจึงคำนึงถึงคำสำคัญอย่าง การเล่น บริบท ความสนุก ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน
เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งบริเวณสวนติดกับถนนพระราม 4 ที่มีประวัติศาสตร์ทางพื้นที่เป็นรางรถไฟในอดีต จึงนำมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบด้วยการนำรูปทรงของวงล้อรถไฟมาต่อยอดด้วยกลไกการเคลื่อนไหว ประกอบกับการเพิ่มฟังก์ชั่นการเป็นทีนั่ง ที่ผู้ใช้สามารถเข้ามานั่งและเล่นหมุนจากที่นั่งเพื่อทำให้เกิดการเคลื่อนไหวในอีกฝั่ง ด้วยกลไกเดียวกับล้อรถไฟที่เป็นลักษณะของฟันเฟืองหมุน เลือกใช้วัสดุเหล็กสีดำเพื่อสื่อถึงความเป็นล้อ โดยมีแผ่นเพลทรับน้ำหนักที่ส่วนด้านล่าง
SITTING SMOOTH
ผู้ออกแบบ: กำแพง รามสูต และ อภิญญา สิทธิสงคราม
ที่ตั้ง: Civic Plaza R2 Grab & Go
ด้วยโจทย์ด้านที่ตั้งที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของมุมมองเพราะแวดล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากทีมนี้จึงเลือกนำองค์ประกอบอย่างเส้นสายความโค้งเข้ามาปรับแบบให้เข้ากับพื้นที่ทีมีลักษณะโอบล้อม และยังตอบโจทย์เรื่องการนั่งเพื่อเล่น หรือ Sit to Play ได้ในเวลาเดียวกัน
การพัฒนาดีไซน์ได้รับการปรับปรุงมาสู่เฟอร์นิเจอร์จำนวนสองชิ้น เพื่อเพิ่มการใช้งานเรื่องการเพิ่มพื้นที่การเดินเข้าถึงเฟอร์นิเจอร์ให้กับผู้ใช้ ส่วนที่นั่งสามารถหันหน้าเข้าและออกได้แบบรอบวงกลม มีความสูงหลายระดับเพื่อรองรับต่อพฤติกรรมการนั่งหลากรูปแบบ ทั้งนั่งพูดคุย นั่งกินอาหาร นั่งรอ พฤติกรรมที่ต่างกันไปตามแต่ละช่วงเวลา นอกจากนี้ยังมีการปรับระยะให้เหมาะสมต่อการเดินผ่านเข้าใช้งานอยู่ที่ 1.2-1.5 เมตร วัสดุเลือกใช้เป็นแผ่นเหล็กและวัสดุไม้เป็นที่นั่ง โดยยังต้องพัฒนาในส่วนนี้ต่อไป