INTERVIEW - A:R (AROUND)
AR:AROUND การนั่ง(และ)เล่น บนเฟอร์นิเจอร์ที่ไร้ข้อจำกัดในการใช้งาน
เฟอร์นิเจอร์สาธารณะ Sit to Play ที่ถูกนำมาเป็นโจทย์สำคัญในการออกแบบ ภายใต้จุดมุ่งหมายที่ไม่อยากให้การนั่งเป็นแค่การอยู่กับที่ แต่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมที่ผู้ใช้งานสามารถนั่งและเล่นไปพร้อมๆ กันได้
หัวใจสำคัญของทีม A:R Around คือการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่เอื้อให้เกิด ‘action’ ระหว่างการนั่ง สร้างความสัมพันธ์ผ่านกิจกรรมที่คนแปลกหน้าสามารถเล่นร่วมกันได้อย่างไม่เคอะเขิน เพื่อมอบประสบการณ์เป็นความสนุกที่เกิดขึ้นจริงบนพื้นที่ Open Lawn ติดถนนพระราม 4 แม้ต้องเผชิญกับเงื่อนไขที่ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนหน้าตาของงานดีไซน์ที่นำเสนอในครั้งแรก แต่ทีม A:R AROUND ที่ประกอบด้วย ณัฐพล สุดโต ศิรชัช เส็งหนองแบน และ ศุภกร จงถิรวงศ์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ก็สามารถหยิบจับเอกลักษณ์การออกแบบของพื้นที่แลนด์สเคปมาผสมผสานกับมิติทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่อย่างเส้นทางรถไฟ เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงานเฟอร์นิเจอร์สาธารณะในรูปแบบ Sit to Play ที่นำกลไกของล้อรถไฟมาชวนให้ผู้ใช้งานร่วมนั่งและสร้างความเคลื่อนไหว เกิดเป็นปฏิสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่ลงตัว
ในช่วงส่งสมัครเข้าร่วมโครงการ ทำไมถึงตัดสินใจเลือก Sit to Play
ณัฐพล - เป็นรูปแบบที่ดูน่าจะออกแบบได้มากที่สุดน มีความน่าสนใจว่าการที่เราจะนั่งไปด้วยและเล่นไปด้วยน่าจะมีความหลากหลาย และจะออกมาเป็นรูปแบบไหน ทีมเราคิดว่าน่าสนใจเลยอยากลองเล่นออกแบบกันดู
ศุภกร - แบบแรกมาจากแนวคิดก่อน คือผู้ใช้กับบริบท โดยที่ตั้งแรกอยู่ข้างบนบ่อน้ำ ก็เลยคิดว่า เราจะเล่นกับบริบทอย่างไรได้บ้าง เลยเกิดรูปแบบตัวแรกที่พอนั่งแล้วจะทำให้น้ำพุผุดขึ้นมา
ทำไมถึงมีการปรับแบบไปจากที่นำเสนอในครั้งแรกอย่างสิ้นเชิง
ศุภกร - จากตอนแรกที่ส่งเข้ามาประกวดและผ่านเข้ารอบ เป็นการนั่งที่มีปฏิสัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบและออกแบบให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าด้วย แต่พอมารู้เรื่องพื้นที่ติดตั้งผลงานว่ามีประติมากรรมอยู่ด้วย ผลงานของทีมเราเลยต้องขยับออกมา ประกอบกับทีมแลนด์สเคปได้ออกแบบพื้นที่ให้มีเรื่องราวของทางรถไฟเราเลยต้องเปลี่ยนหน้าตาดีไซน์โดยยังคงคอนเซปต์เดิมว่าเป็นที่นั่งเล่นที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างผู้ใช้งาน
แนวคิดของดีไซน์ล่าสุดเป็นอย่างไร
ณัฐพล - แนวคิดผลงานของทีมเรามีความเป็นเก้าอี้ม้าหมุนของเด็ก แต่ดีไซน์มีความเรียบง่ายมากขึ้น มองแล้วอาจจะไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรจนกว่าจะได้ลองไปนั่ง ถึงจะรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แบบด้านบนมาจากล้อรถไฟ ถอดแบบออกมาให้มีความเรียบง่าย
การพัฒนาแบบใหม่ต้องเจอกับความท้าทายอะไรบ้าง
ศิรชัช - เริ่มตั้งแต่เแรกที่เข้ารอบมาแล้วถูกพัฒนาเป็นดีไซน์ใหม่ พวกผมคิดกันว่าจะนั่งยังไงให้สามารถเล่นไปด้วยได้ ก็มีการพัฒนาแบบขึ้นมาเรื่อยๆ กว่าจะเป็นแบบที่โอเคสำหรับพวกเรา คือเป็นเฟอร์นิเจอร์ดูเป็นการเล่นที่ไม่ได้หนักมากจนเกินไป
ณัฐพล - ยากในเรื่องระบบและกลไก ค่อนข้างเป็นเรื่องทางวิศวกรรม ที่ต้องทดลองและศึกษาเพื่อหาคำตอบ ทีมเราก็ลองเปิดดูระบบในยูทูปว่าอะไรที่สามารถนำมาปรับใช้กับตัวงานของเราได้
ศุภกร - ยากตั้งแต่รู้เรื่องบริบทของพื้นที่ ที่ต้องปรับแบบตอนส่งเข้าประกวด ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์และแนวคิด พอเกี่ยวกับรถไฟจะยากทันที เพราะถึงเป็นสิ่งที่รู้จักแต่เราไม่ได้ไปคุ้นเคยหรือสนิทด้วย ก็เลยต้องทำการค้นคว้า ทั้งวิธีการเล่น รูปแบบ ระบบ และพัฒนาต่อมาจนเป็นตัวแบบตัวนี้
เวิร์กชอปที่ชอบมากที่สุด
ศิรชัช - ครั้งที่ได้ไปดูพื้นที่ของโครงการ วัน แบงค็อก ทำให้ได้เห็นพื้นที่จริงและรู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ไปดูงานในไซต์ก่อสร้าง
ศุภกร - เวิร์กชอปที่มีวิทยากรมาบรรยายเรื่องกระบวนการคิดของเฟอร์นิเจอร์จาก สนิทัศน์ สตูดิโอ เพราะได้เรียนรู้แนวความคิดของก่อนจะเป็นชิ้นงานไฟนอล ซึ่งสามารถหยิบมาเป็นแนวทางในการพัฒนาแบบของเราได้
ณัฐพล - เวิร์กชอปตอนที่ Studio150 มาบรรยายเรื่องของการนำเสนอผลงาน ที่เคยใช้กับผลงานและนิทรรศการที่ผ่านมา น่าจะเป็นเรื่องที่เราเอาปรับใช้ได้ง่ายที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องเอามาใช้และมีประโยชน์มากที่สุด
ประสบการณ์การทำงานกับพี่เลี้ยงนักออกแบบอย่าง THINKK Studio
ศิรชัช - ทางพี่ๆ THINKK Studio ให้คำแนะนำที่ดีคอยเสนอแนะ ช่วยสอนในเรื่องต่างๆ ของการออกแบบและให้คำปรึกษาที่ดีมาก
ความภูมิใจตั้งแต่เข้ารอบโครงการมาจนถึงตอนนี้
ณัฐพล - ภูมิใจทั้งในตัวเองและทีมงานรวมถึงดีใจที่จะได้ไปแสดงให้สาธารณชนได้รับรู้ใน Bangkok Design Week 2023
ศุภกร - ภูมิใจทุกอย่างเลยครับ ทั้งเรื่องของงานที่แม้จะไม่ได้ออกมาดีที่สุดเท่าที่เราได้คิดไว้ แต่มันก็ออกมาดีมากในระดับหนึ่ง ทั้งภูมิใจและดีใจและรู้สึกอบอุ่นกับพี่ๆ ทีมงานทั้งหมดเลยครับ
ศิรชัช - ผมก็ยินดีอย่างยิ่งที่ได้เข้ามาเป็นหนึ่งในการเวิร์กชอปครั้งนี้ ตั้งแต่ได้ถูกคัดเลือกเข้ามาแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นมาก จนมาถึงสุดท้ายแบบไฟนอลเราก็รู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จแล้วครับที่เราได้สร้างผลงานชิ้นนี้ออกมา