INTERVIEW - FOR THE FRIEND WE HAVEN'T MET YET

แด่เพื่อนที่(ไม่)รู้จัก หรือ FOR THE FRIEND WE HAVEN'T MET YET เฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่อาจช่วยให้เราได้รู้จักเพื่อนใหม่

 

แด่เพื่อนที่(ไม่)รู้จัก ทีมนักออกแบบที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง คนและพื้นที่เข้าด้วยกันผ่านเก้าอี้ โดยเริ่มจากการสังเกตและศึกษาบทบาทของเฟอร์นิเจอร์สาธารณะในพื้นที่ต่างๆ และพบว่าปัญหาที่พื้นที่สาธารณะในเมืองไม่ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ หรือไม่ได้ถูกใช้เป็นพื้นที่ในการรวมตัวคนของเมืองอย่างแท้จริง urban furniture เองก็มีส่วนในการทำให้พื้นที่ไม่ถูกใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ กฤตธี วงศ์มณีโรจน์ และ วิภพ มโนบัญจสิริ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ไอเดียในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะเพื่อเป็นจุดของการรองรับการรวมตัว การนั่งหย่อนใจ วิเคราะห์จากพฤติกรรมของการนั่งที่มีระดับความใกล้ชิดและกิจกรรมที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรอ นั่งคุยโทรศัพท์ นั่งกินหรือดื่ม ไปจนถึงการนั่งรวมตัวของคนกลุ่มใหญ่เพื่อชมการแสดงหรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเติมเต็มความหมายให้กับพื้นที่ภายในโครงการ วัน แบงค็อกแห่งนี้


 

JAzI0vNPZiR2zok8Fr-emNGnOORZRpjcjG_9s9n9W8nwmqljZZrtIJkHeqBM8FdiYu-EIxw2P0_0fIu_a5PZ0OrebSQ4ifVZsZhygtiV2sKR44jgj1u9M1ovM79yXvYer72uJfugetJeU3jEAT-JGDRcBlHqHy8r2xThHltTbnAJT22GIN2CR79-o1exaQ


 

ได้จุดเริ่มต้นในการออกแบบเก้าอี้ตัวนี้มาจากไหน

 

วิภพ - เรามองถึงปัญหาและประเด็นก่อน แล้วจึงย้อนกลับไปดูทฤษฎีการใช้ที่ว่างที่ได้เรียนมา มีทฤษฎีนึงที่น่าสนใจคือ แบบแผนการใช้สอยที่ว่าง ซึ่งมองในเชิงสเปซเล็กๆ หนึ่งสเปซ ในการจัดที่นั่งที่ส่งผลต่อจิตวิทยาของผู้คน แบ่งออกมาเป็นสองแบบคือ sociofugal space ซึ่งเป็นการจัดที่นั่งแบบงหันหน้าออกจากกัน ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อนั่งเป็นเวลานาน และไม่เกิดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กับอีกแบบหนึ่งคือ sociopetal space เป็นการจัดที่นั่งที่แบบหันหน้าเข้าหากัน เหมือนเวลาเรานั่งที่ร้านอาหาร ก็จะเป็นการส่งเสริมการคุยกันให้มากขึ้น เพราะว่าผู้คนเข้าหันหน้าเข้าหากันแล้วผ่อนคลาย กล้าที่จะเปิดบทสนทนาหรือว่ากล้าที่จะทำความรู้จักกัน เราก็เลยเริ่มเอาคำว่า “ทำความรู้จักกัน” เป็นประเด็นแรกในการนำเสนอ ว่าจะทำอย่างไรให้เก้าอี้สาธารณะทำให้คนผ่อนคลายและกล้าที่จะทำความรู้จักกัน ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ แด่เพื่อนที่(ไม่)รู้จัก 


 

ในฐานะที่เรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์อยู่ในตอนนี้ พบว่าวิธีคิดระหว่างการออกแบบสถาปัตยกรรมและเฟอร์นิเจอร์มีสิ่งที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไรบ้าง

 

กฤตธี - สิ่งที่เหมือนกันน่าจะเป็นเรื่องของการต้องบาลานซ์ระหว่างความต้องการของดีไซเนอร์ อาจเป็นในเชิง aesthetic หรือในเชิงแนวคิดบางอย่างกับสิ่งที่เป็นไปได้จริง กับความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง และงบประมาณต่างๆ นี่เป็นทักษะที่นักออกแบบทุกคน ไม่ว่าจะดีไซเนอร์ สถาปนิก หรืออาชีพใดๆ ก็ตามก็ต้องมีทักษะนี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ซึ่งมองว่าสิ่งนี้ทำให้รู้สึกว่า สามารถทำงานออกแบบได้หลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นสถาปัตยกรรมอย่างเดียว 

 

แต่ว่าสิ่งที่ต่างเป็นเรื่องของรายละเอียด ถ้าเราออกแบบตึกมันจะมีของที่เล็กจนเรามองไม่เห็น เราอาจจะไม่ต้องดีไซน์ อาจจะไม่ใช่หน้าที่เราในการออกแบบ อาจเป็นหน้าที่ของอินทีเรียหรือคนอีกหน้าที่หนึ่ง แต่ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ ทุกรายละเอียดจะมองเห็นหมดเลย จะถูกเปิดเผยออกมา มองเผินๆ เหมือนกับว่าตัวงานดูไม่มีอะไร แต่รายละเอียดที่เราต้องรับมือนั้นมีเยอะมาก แล้วเราก็มองว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อนในการเรียน

 

วิภพ - มีเรื่อง essence ของเก้าอี้และสถาปัตยกรรมที่รู้สึกว่าคล้ายกัน การออกแบบสถาปัตยกรรม สุดท้ายแล้วถ้าเราสร้างอะไรบางอย่างลงไป พื้นที่ตรงนั้นควรจะดีขึ้น หรือควรจะปรากฏชัดขึ้นทั้งต่อกายและใจของคน เรามองว่าถ้าอาคารตั้งอยู่ บริบทตรงนั้นอาจจะต้องสำคัญและก่อให้เกิดความงามขึ้นมา กลายเป็นว่า การตั้งอยู่ของเฟอร์นิเจอร์ หัวใจของงานจะต้องทำให้พื้นที่ที่อยู่รอบๆ ซึ่งคือโครงการ วัน แบงค็อก ดีขึ้นเหมือนกัน คือต้องตอบจุดประสงค์ที่เป็นหัวใจของพื้นที่นี้ สมมติว่าเราตีความว่ามันคือพื้นที่แห่งการปฏิสัมพันธ์กัน การมีอยู่ของเก้าอี้นี้ทำให้คนรู้สึกกล้ามากขึ้น รู้สึกเพลิดเพลินมากขึ้นกับการที่ได้มาทำความรู้จักกัน


 

เวิร์กชอปครั้งไหนที่ประทับใจมากที่สุด

 

กฤตธี - ประทับใจเวิร์กชอปของคุณสนิทัศน์ ในหัวข้อ public art ตอนที่ฟังเนื้อหาที่นำเสนอ เราสองคนรู้สึกว่ามีประเด็นที่ตรงกับงานเรามากเลย การที่เราจะดีลระหว่างความเป็นศิลปะกับความเป็นเฟอร์นิเจอร์ เราทำในรูปแบบไหนได้บ้าง หรือมีประเด็นอะไรที่เราควรโฟกัสในเรื่องของการดีไซน์บ้าง คุณสนิทัศน์ให้มุมมองเกี่ยวกับกระบวนการทำงานออกแบบ ว่าจริงๆ แล้วมันก็คล้ายกันระหว่างการที่เราเป็นสถาปนิกและเป็นนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ก็รู้สึกว่าเปิดมุมมองและความคิดที่ทำให้เรามีมิติในการออกแบบลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น

 

วิภพ - นอกจากเวิร์กชอปครั้งนั้นก็เป็น ตอนตรวจแบบกับทาง THINKK Studio เป็นช่วงที่สะบักสะบอมนิดนึง แต่ว่าทำพรีลิมช่วงแรกๆ แล้วรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่สักที ก็ค่อนข้างเครียด เลยโหมทำกัน 2-3 วัน ตั้งใจทำทุกอย่าง เป็นจุดแรกของการเริ่มแตกเก้าอี้เป็นสามแบบ ประกอบกับเป็นช่วงเวลารอบหลังจากที่ได้ฟังเลคเชอร์จากสนิทัศน์ สตูดิโอ รู้สึกว่ามีความเข้าใจมากขึ้น เรื่องการที่เราไม่สามารถบังคับให้คนนั่งและทำความรู้จักกันได้ทุกคน สุดท้ายแล้วมันเป็นความต้องการ เราไม่สามารถทำให้ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมันเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้คือการเอื้อให้เกิดสิ่งนั้น


 

แชร์ประสบการณ์ช่วงรับฟังคำปรึกษากับพี่เลี้ยงนักออกแบบอย่าง THINKK Studio ทำให้เรียนรู้อะไรใหม่บ้าง

 

วิภพ - การมองของที่เล็กๆ มีช่วงที่ทาง THINKK Studio ให้คำแนะนำเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งเราไม่ค่อยเข้าใจเพราะเราไม่เข้าใจวิถีของวัสดุ ตอนแรกผลงานของเราคือ 3D printing concrete พยายามทำงานแล้วแต่ผลิตไม่ได้จริงๆ เพราะทางผู้ผลิตมีข้อจำกัด ก็เลยเป็นการตัดสินใจร่วมกันว่าเราจะเปลี่ยนวัสดุ ก็รู้สึกโอเคและยินดี ขอบคุณทาง THINKK Studio ที่ช่วยเหลือ แล้วก็จะมีเรื่องเส้นสายที่เราให้ความสำคัญมาก มันคือเรื่องสุนทรียภาพของเก้าอี้และความหมาย การเข้าปรึกษาเคยได้รับฟีดแบ็คว่า ระนาบดูไม่เป็นระนาบ ทีมของเราเลยต้องทำงานกันต่อว่าความเป็นระนาบมันคืออะไรกันแน่ เลยต้อง work hard เพิ่มขึ้น ต้องทำต่อครับ

 

กฤตธี - การมองงานดีไซน์ที่ไม่ได้จบที่งานอย่างเดียว แต่มองไปถึงการเชื่อมโยงต่อพื้นที่รอบๆ ผู้คน สภาพแวดล้อมต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตอนแรกคือเราโฟกัสแค่พื้นที่กับชิ้นงานอย่างเดียว เลยกลายเป็นว่าผลงานของเราอาจจะขวางการเดินทางของคน ทั้งที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะ เป็นพื้นที่ที่มีคนจำนวนมากใช้งาน คนต้องเดินผ่านบริเวณนี้เยอะมาก แต่เราไม่ได้โฟกัสตรงนั้น ก็เลยเหมือนเป็นจุดที่ทำให้เกิดการปรับแบบ เพื่อให้รองรับกับเส้นทางของผู้ใช้งาน ควรจะให้งานของเราตอบในสิ่งที่เราต้องการได้ ขณะเดียวกันก็ไม่ควรไปขัดขวางสิ่งที่เคยมีอยู่แล้ว อันนี้เป็นสิ่งที่ได้รับในการปรึกษาร่วมกับ THINKK Studio


 

มีความภูมิใจในผลงานและภูมิใจตัวเองอย่างไรงบ้าง 

 

กฤตธี  - ภูมิใจมากๆ เพราะเป็นการออกจาก comfort zone ของเราด้วย ในแง่ที่ได้ทำงานในสาขาที่ไม่เคยทำมาก่อน แล้วก็มีการใช้เครื่องมือที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อนด้วย ทำให้เราได้เปิดโลก ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากขึ้นเยอะ

 

วิภพ - ภูมิใจและรู้สึกว่าเราบรรลุอะไรบางอย่าง ตอนที่เริ่มพัฒนาเก้าอี้อีกแบบนึง เราก็รู้สึกว่าแบบแรกมันดีแล้วนะ เพราะไอเดียก็ตอบโจทย์และเห็นเป็นภาพ แต่ว่าสุดท้ายแล้ว มันคือการทำดีไซน์ที่เข้ากับพื้นที่จริงด้วย ความจริงแล้วไซต์ตรงนี้เป็นจุดตัด จำนวนของคนที่ผ่านไปผ่านมาก็ต้องเปลี่ยน เรารู้สึกว่าจะเปลี่ยนอย่างไรให้ยังสวยงามอยู่ การแบ่งเก้าอี้ออกเป็นส่วนๆ อยู่ด้วยกันก็ต้องสวย แยกออกจากกันก็ต้องสวย พอเราเริ่มไอเดียมาแล้ว พอไอเดียเริ่มพัฒนาต่อไปได้ รู้สึกเหมือนดีไซน์พูดกับเราว่า ความจริงเราทำได้ดีกว่านี้ มันเลยเป็นความภูมิใจเล็กๆ น้อยๆ ของเรา เป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกอยากทำต่อไป อยากพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ 

 

Back to top