INTERVIEW - RIBBON FLOW

เมื่อเส้นสายกลายเป็นพื้นที่แลนด์มาร์ก ผลงานการออกแบบเฟอร์นิเจอร์จากทีม RIBBON FLOW

 

ผลงานการออกแบบจากทีม RIBBON FLOW โดดเด่นขึ้นมาด้วยสีสันสะดุดตาและรูปทรงของงานดีไซน์ที่ใช้ลักษณะเส้นสายของริบบิ้นมาบิดปรับให้เป็นที่นั่ง เติมเต็มพื้นที่ส่วน Planter Boxes ของโครงการ วัน แบงค็อก สมาชิกทีมประกอบด้วย ฐิฌาพร โลหุตางกูร ณรงค์ฤทธิ์ รักไทย และ ณัฐวัฒน์ ปานนิยม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 

 

เพราะเชื่อว่าริบบิ้นเป็นเส้นสายที่ใช้ผูกรัดสิ่งต่างๆ เข้าหากัน เหมือนกับการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ต้องการสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ามาพบปะพูดคุย จึงนำรูปฟอร์มของริบบิ้นมาบิดโค้งไปมารอบพื้นที่ สร้างการใช้งานที่หลากหลาย ทั้งส่วนเส้นตั้งทำหน้าที่แบ่งกั้นพื้นที่และเป็นร่มเงา ส่วนเส้นนอนรับบทเป็นที่นั่งสำหรับผู้ที่เข้ามาใช้งาน 

 

การเข้าร่วมโครงการ One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 "Seatscape & Beyond" พร้อมกับโอกาสในการพัฒนาแบบร่วมกับ design mentor มาเป็นระยะเวลาหลายสัปดาห์ทำให้ผลงาน RIBBON FLOW ได้ปรับให้เข้ากับบริบทพื้นที่และคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องของระยะทาง หน้าตาของดีไซน์ที่ต่อยอดมาจากการทดลองตัวต้นแบบลักษณะการบิดพลิ้วจากริบบิ้นจริง ไปจนถึงเรื่องการเข้าถึงเพื่อให้คนทุกกลุ่มใช้งานได้


 

3GesHOewKMEleZsCteoQh0AS_PLK0jccCw0WvQlvijeKUNmhroiL73vyA130wpWHWXE9rZcsj4tqnyHGcRt73gjlHQwa4jx2DAoIekzFx1HsUZ4o6RyGrOY63xs8-2R88fTVjsfyk_lNvTNZ2-dU8FFlBmVEinXhrPwE8JL1AWVd7e8iKCaQ7QIe8fh-Iw



 

หลังจากที่เห็นโจทย์ของโครงการประกวด พัฒนาไอเดียตั้งต้นอย่างไรบ้าง

 

ณัฐวัฒน์ - โจทย์ที่โครงการประกวดให้มาบอกว่า Sit to Gather เป็นการนั่งที่รวมตัวและเชื้อเชิญผู้คนเข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์ต่อกัน เราก็ไปตีความและคิดว่า จะทำอย่างไรให้ที่นั่งของเราเป็นศูนย์รวมให้คนเข้ามารวมตัวกัน ต้องการทำให้งานที่เราออกแบบมีความน่าสนใจและเป็นแลนด์มาร์ก ซึ่งดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งานเหมือนเป็นจุดนัดพบ พอคนเข้ามาใช้งานการสร้างปฏิสัมพันธ์ก็จะเกิดขึ้นตามมาเองครับ

 

ฐิฌาพร - เราคิดว่าจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือหรือเป็นตัวกลางให้ผู้คนได้เชื่อมโยงกันค่ะ เลยนึกไปถึงเส้นสายที่มีความสามารถในการเชื่อมโยงอย่างริบบิ้น เพราะในการใช้งานเชิงทั่วไปเป็นสิ่งแทนความงาม ใช้เป็นประดับของขวัญหรือสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า แล้วก็มีการใช้แทนในเชิงความหมายหลายอย่างก็เลยเลือกริบบิ้นมาใช้ค่ะ


 

ระหว่างทางของการพัฒนาแบบ เจอความท้าทายอะไรที่น่าตื่นเต้นบ้าง

 

ณัฐวัฒน์ - จากโจทย์ Sit to Gather ที่เป็นการเชื้อเชิญให้ผู้คนมารวมกันในพื้นที่ ก็มีการตีความว่าต้องการให้เก้าอี้โดดเด่นเป็นแลนด์มาร์กให้ผู้คนมาใช้งาน แล้วก็ได้สร้างปฏิสัมพันธ์กัน สามารถใช้เป็นจุดนัดเจอรวมตัวกันได้ แต่เมื่อได้ลงพื้นที่จริงก็เห็นว่ามีทั้งกระถางต้นไม้ที่บางช่วงที่อาจบดบังตัวชิ้นงาน หรือต้นไม้ที่ปลูกโดยรอบเป็นต้นเหลืองอินเดีย ซึ่งทำให้ดีไซน์เดิมซึ่งเป็นสีส้มไม่เกิดความโดดเด่น จึงเกิดเป็นการปรับเปลี่ยนวัสดุแล้วก็ชนิดของสีที่ใช้เป็นสีส้ม candy tone และวัสดุสแตนเลสแทนเพื่อให้เกิดความเงางาม 

 

ฐิฌาพร - ทีมเราเจอกับข้อจำกัดเรื่องของโปรแกรมที่ใช้ออกแบบ เหมือนเราชินกับการใช้โปรแกรมเดิมอย่าง sketch up แต่การดีไซน์ที่จะปั้นฟอร์มให้มันบิดพลิ้วแล้วก็ดัดโค้งได้มีความยากมากสำหรับโปรแกรมนี้ ก็เลยต้องมีการศึกษาโปรแกรมใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้ามา 


 

พอเริ่มเข้าสู่กระบวนการเวิร์กชอป มีเวิร์กชอปครั้งไหนที่เราประทับใจหรือได้ความรู้ใหม่บ้าง

 

ฐิฌาพร - เวิร์กช้อปสัปดาห์ที่ 3 ที่เป็นเรื่องของการเก็บข้อมูลตลอดกระบวนการทำงาน เราได้รู้ว่าควรจะบันทึกข้อมูลไว้อย่างสม่ำเสมอ ทั้งรูปภาพ ภาพถ่าย ภาพสเก็ตช์ วิดีโอหรือโมเดลเล็กๆ ที่เราทำ ซึ่งกระบวนการเก็บข้อมูลเหล่านี้ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของงานตลอดเวลา แล้วทำให้ง่ายต่อการพัฒนาแบบของเราต่อไป 

 

ณรงค์ฤทธิ์ - สนใจในเวิร์กชอป Public Art ไปฟังพี่ที่เล่าประสบการณ์ชิ้นงานของตัวเองว่าเป็นอย่างไรตั้งแต่เริ่มแรกจนจบงานดีไซน์ ก็ได้รับไอเดียกลับมาด้วย 

 

ณัฐวัฒน์ - ของผมก็สัปดาห์ที่ 8 ที่ได้เห็นผลงานของเพื่อนๆ เพราะทำให้รู้ว่าผลงานของเพื่อนเป็นอย่างไรกันบ้าง เราต้องรีบกับผลงานของตัวเอง รู้จักกระตือรือร้นมากขึ้น จากทุกวีคก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีการคิดเป็นลำดับมากขึ้น เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น 


 

ความประทับใจที่ได้เข้าร่วมโครงการ

 

ณัฐวัฒน์ - เรื่องที่ได้ศึกษาที่พี่ๆ นำ case study มาพูดคุยกัน ได้ศึกษา ได้รู้มุมมองว่าก่อนที่จะเป็นเฟอร์นิเจอร์แต่ละตัวมีที่มาอย่างไรบ้าง แล้วก็นำความรู้ตรงนั้นมาปรับใช้กับผลงานของตัวเอง ว่าก่อนที่จะเป็นชิ้นงานก็ควรจะรีเสิร์ชอย่างไรบ้าง อีกอย่างคือจากโปรแกรมออกแบบที่ไม่ถนัด ตอนนี้ก็ถนัดหลายโปรแกรมมากขึ้น จากทำไม่เป็นก็จำเป็นต้องทำเป็น (หัวเราะ)

 

ฐิฌาพร - การได้เจอเพื่อนใหม่ๆ ก็เป็นหนึ่งในความประทับใจ เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างจากเพื่อนๆ ได้เห็นงานเพื่อนหรือรูปแบบที่ต่างกันจากที่เราเรียน โปรแกรมที่เพื่อนใช้ แล้วก็ได้สอบถาม ได้ความรู้ เวิร์กชอปทุกเวิร์กชอปที่พี่ๆ เอามาเป็นเคสให้ ทำให้เราพัฒนาผลงานเราได้มากขึ้น ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ได้เรียนรู้ว่า ถ้าบริบทเปลี่ยนไป จะนำไปสู่พฤติกรรม รูปแบบการใช้งานที่เปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน

 

ณรงค์ฤทธิ์ - ผมประทับใจเรื่องการทำงานกับพี่ๆ นักออกแบบ เราได้เรียนรู้จากพี่เขา จากขั้นตอนแรกถึงขั้นตอนสุดท้าย รวมถึงเรื่องการเขียนรายละเอียดของดีไซน์ที่มีความละเอียดขึ้น เรื่องวัสดุที่ได้รับคำแนะนำมา บางทีอาจเป็นวัสดุที่เราไม่กล้านำมาใช้ แต่เราก็มีโอกาสลองนำมาใช้ดู


 

ประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการนี้ที่อยากแบ่งปันให้กับว่าที่นักออกแบบรุ่นใหม่

 

ณัฐวัฒน์ - อย่างแรกคือการรู้จักคิดเป็นลำดับขั้น ถ้าเราได้โจทย์มาแล้วเราก็ต้องตีความโจทย์ให้แตกฉาน เข้าใจโจทย์อย่างถ่องแท้ว่าเป็นอย่างไร ที่นั่งที่เชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามาใช้งานต้องมีอะไรบ้างมีความโดดเด่นหรือเปล่า หรือว่ามองเห็นผู้คนได้ชัดเจน เชิญให้คนที่อยากคุยเข้ามา ทำอย่างไรให้สร้างปฏิสัมพันธ์ได้ ต่อมาคือการต้องกำหนดกรอบงานของเราให้ชัดเจน ของทีมเรานำเรื่องของความโดดเด่นเป็นกรอบการทำงาน พอคิดอะไรที่ต่างออกไป มันอาจจะสะเปะสะปะ แต่ว่าอย่างน้อยก็มีกรอบให้สามารถพัฒนาตัวดีไซน์ไปต่อโดยไม่หลุดกรอบ

 

ระหว่างทำงานควรเก็บข้อมูลงาน เหมือนทดลองอะไรไว้ก็ต้องเก็บ เพื่อที่เราจะได้ดูว่าจากตั้งแต่ต้นตอนนี้ทำมาถึงไหนแล้ว ทิศทางของงานป็นแบบไหน เราก้าวหน้าไปถึงไหน หรือภาพรวมเป็นยังไง เก็บทั้งภาพ โมเดล หรือว่าแบบเก่าๆ เอาไว้ 

 

ฐิฌาพร - พอผ่านโครงการเข้ามาเป็น 10 ทีมแล้ว เราได้ข้อมูลหลายๆ อย่าง ได้ความรู้กลับไป ได้มีความสัมพันธ์กับเพื่อนใหม่ๆ มีพี่ๆ ที่ช่วยแนะนำ คอยช่วยเป็นไกด์เราให้เราทำแบบต่อไป เหมือนเราเข้ามาแล้วเราไม่ได้อยู่คนเดียว มีพี่ๆ คอยซัพพอร์ตอยู่ด้านหลัง ไม่ต้องกลัวเลยที่จะได้ลองเล่นกับเฟอร์นิเจอร์ของเรา ที่จะได้ลองสร้างแบบออกมา มีพี่ๆ คอยช่วยดูแลมาตลอด เราได้ข้อมูลมาจากหลายแหล่ง สามารถหยิบยกมาได้จากหลายๆ ที่มาปรับใช้กับผลงานของเราได้

Back to top