INTERVIEW - SEE-KLONG

สร้างสมดุลเพื่อปฏิสัมพันธ์ เก้าอี้ที่หยิบจับวัฒนธรรมแห่งสายน้ำมาเป็นผลงาน

 

ซีคลอง (SEE-KLONG​​) เฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่มาพร้อมกับลักษณะเด่นคือที่นั่งที่ชวนนึกถึงไม้กระดก การสมดุลระหว่างผู้นั่งทั้งสองฝั่งที่สร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์หรือการสื่อสารระหว่างกัน งานออกแบบยังมีไฮไลท์สำคัญคือหลังคาโค้งที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรือสำปั้นสวน พาหนะสำหรับขนส่งและค้าขายตามลำคลองที่ได้รับความนิยมและสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีต

 

ทีมซีคลองประกอบด้วยสมาชิก 3 คนคือ กอไผ่ นนทเปารยะ และ ณัฏฐภพ วิลาวัณย์วจี จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ พลนาวี ตรีถัน จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งสามคนได้ร่วมกันระดมไอเดีย จนได้เป็นคำสำคัญอย่าง “ภูมิทัศน์กรุงเทพฯ​” และด้วยความสนใจที่มีต่อมิติเชิงวัฒนธรรม ซีคลองจึงมองกรุงเทพฯ ในฐานะศูนย์กลางที่รวมผู้คนจากหลากหลายภูมิภาคมาพบปะกันในพื้นที่แห่งนี้ โดยเฉพาะกับวิถีชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับแม่น้ำลำคลองซึ่งเป็นเส้นทางแห่งการคมนาคมและการค้าขาย ผ่านเรือสำปั้นสวน รวมถึงความสัมพันธ์และความเชื่อใจที่เกิดขึ้นระหว่างพ่อค้าแม่ขายและลูกค้า


 

JwF-sZVoughIS9tkcz7mseevBn2fxl-XudSwe2_mUBTjkbHLWyhQ8FWhmptUFagD7qaK-Cc_TeK5G39UT0eqMTFgsEMLqifMMFWbTGdRgsAksBVibRXMNwXOsBw6FK5XjiO9XsG6QVwielYtR5j1BgFTc6ZTYg_sRk8_cfciDCK5MkvNFeNjlHJrqv_Kpw




 

ไอเดียเริ่มต้นได้แรงบันดาลใจมาอย่างไรถึงตัดสินใจเข้าร่วมประกวด

 

ทีมเราเลือกมองในบริบทกรุงเทพฯ ว่าเป็นเมืองที่น่าสนใจ เป็นเมืองที่ค่อนข้างใหญ่ แล้วก็เป็นศูนย์กลางรวมผู้คนจากหลากหลายภูมิภาค มาพบปะกันในพื้นที่แห่งนี้ เราเลยมองว่ากรุงเทพฯเป็นพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม 

 

จากบริบทของพื้นที่ เราเลือกโหมด Sit to Gather  โดยมองจากภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯ ซึ่งมีแม่น้ำเจ้าพระยาที่แตกเป็นหลายสาย มีส่วนที่เล็กของแม่น้ำก็คือลำคลอง โดยเริ่มมองจากในอดีตมากกว่าปัจจุบัน เพราะมีความน่าสนใจในเชิงวัฒนธรรม พอเป็นคลองก็ได้คำตอบว่าเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและสินค้ากันบนเรือ 


 

จากไอเดียเรือพัฒนามาเป็นเฟอร์นิเจอร์สาธารณะอย่างไร

 

พื้นที่ลำคลองก็ต้องพึ่งพาเรือในการซื้อขาย ในตอนนั้นเราสนใจเรือสำปั้นสวน เป็นเรือที่มีบทบาทในการขนส่งและค้าขายของไทยในยุคนั้น ประกอบกับรูปทรงที่น่าสนใจหลังคาด้วย เลยทำให้ตัวเก้าอี้ที่นั่งของเรามีความน่าสนใจเรื่องของ dynamic ด้วยความโคลงเคลงของตัวเรือ เมื่อจับคู่เข้ากับการนั่งแบบไม้กระดก เราเลยได้เห็นจุดร่วมของสองสิ่ง ถ้าเราทำเก้าอี้ที่เป็นทั้งเรือและไม้กระดก ความไม่สมดุลของทั้งคู่ คล้ายกับดึงดูดผู้คนให้มาใช้ตัวเรือหรือไม้กระดกนี้ คล้องจองกับแนวคิด sit to gather เราก็หวังว่าจะเป็นไอเดียที่แปลกใหม่สำหรับ seatscape and beyond ที่มองว่าเก้าอี้นี้เป็นได้มากกว่าเก้าอี้


 

การพัฒนาแบบจากจุดเริ่มต้นมาถึงวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง

 

ตอนแรกแบบของเราจะค่อนข้างเล็ก ปกติไม้กระดกที่เราเห็นตามสวนสาธารณะจะมีลักษณะค่อนข้างยาว เพราะว่าตัวที่นั่งต้องมีจุดหมุนหรือจุดศูนย์กลางให้สามารถกระดกได้ ตัวดีไซน์เก้าอี้ของเราเลยยาวขึ้น จากแบบในตอนแรกมีสามตัว แต่ตอนนี้เหลือสองตัว ถ้ามีสามตัวจะค่อนข้างใช้งานลำบาก บวกกับดีไซน์ที่เป็นจุดเปลี่ยนคือตัวสปริง ตอนแรกเราไม่ได้ดีไซน์กลไกสำหรับการกระดกโดยเฉพาะ ใช้ความโค้งของตัวเรือไปเลย แค่ความโค้งให้มันกระดก (หัวเราะ) ตอนนี้มีสปริงเป็นกลไกเข้ามาช่วยตัวที่นั่งให้กระดกไม่มากหรือไม่น้อยจนเกินไป 

 

ตัวดีไซน์ที่นั่งจากตอนแรกที่เป็นแผ่น แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นท่อแทน เรานำลักษณะจาก 3D เป็น 2D แทน เพราะการเป็นแผ่นมันค่อนข้างยากในการผลิตและติดตั้ง อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำกักขัง ดูแลรักษายาก พวกเราเลยเปลี่ยนเป็น wire frame ซึ่งเวลาฝนตกน้ำก็ไม่ขัง ไม่สร้างความสกปรกให้กับตัวไซต์ 


 

แล้วประเด็นเรื่องการเลือกใช้วัสดุสำหรับตัวผลงานน่าสนใจอย่างไร

 

โอ้โห ตอนแรกทีมของผมก็ไม่มีความรู้เรื่องวัสดุมาก่อน ตอนนำเสนอเลือกเป็นพลาสติก HDPE พอคุยกับทาง THINKK Studio พี่ๆ ก็บอกเลยว่าไม่ได้ โดยให้ทางออกมาสองวิธีคือไม้ดัดกับโครงเหล็กที่ตัดเป็นซี่ๆ แล้วก็วางไม้บนตัวโครงเหล็ก ทีมของเราแอบชอบความโค้งแบบดีไซน์เดิม เลยเลือกไม้ดัด แต่ปรากฏว่าพอดัดไม้ไปเรื่อยๆ แล้วมันไม่ได้ ซึ่งตอนแรกผมไม่ชอบการใช้โครงเหล็กเพราะวางไม้ด้านบนแล้วภาษาการออกแบบดูเปลี่ยนไป ก็เลยไปในส่วนไม้โค้งให้สุดทางแล้วมันไม่ไหวจริงๆ ด้วยรูปทรงที่โค้งเยอะ แบบโค้งตัวเรือ ก็เลยไม่ได้ เราก็เลยกลับไปเลือกวัสดุโครงเหล็ก 

 

ปัญหาของโครงเหล็กคือทำยังไงให้ดูสวย เราเลยต้องปลี่ยนแบบให้ดูโค้งยาวขึ้น นุ่มนวลขึ้น แล้วใช้โค้งที่มนเหมือนเก้าอี้ในสวนสาธารณะของเด็กๆ เรื่องวัสดุค่อนข้างยากเพราะเปลี่ยนทุกครั้งที่นำเสนอ มีหลายประเด็นที่ต้องใส่ใจ ทั้งเรื่องความสะอาด ความคงทน การผลิต วัสดุไม้เองมีอายุอยู่ได้แค่ 2-3 ปี เราลองขยับไปไม้เคลือบไฟเบอร์กลาส ก็ได้แค่ 3-5 ปี สุดท้ายจึงเลือกเป็นเหล็กและใช้วิธีการเคลือบสีน้ำมัน กับลงแลคเกอร์ให้เป็นเงาสวย หรืออาจเปลี่ยนเป็นสีเงิน ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไป


 

มีวิธีการสมดุลระหว่างความสวยงามและการใช้งานในผลงานชิ้นนี้อย่างไร

 

การเลือกใช้กลไกให้สอดคล้องกับตัวเรือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ดีไซน์รู้สึกเหมือนอยู่บนเรือ อยากรักษาความรู้สึกนี้เอาไว้ ให้เหมือนว่าผู้ใช้งานได้ล่องอยู่ในคลอง เหมือนได้นั่งอยู่บนเรือสำปั้นสวนทีมของเราพัฒนามากขึ้น ภาษาของดีไซน์เองก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ พอเราดีไซน์ คำว่าการใช้งาน (functional) กับความสวยงาม (essence) เมื่อได้รับคำแนะนำพี่ๆ จาก THINKK Studio ในช่วงรับคำปรึกษาเพื่อพัฒนาแบบ แล้วพบว่าดีไซน์ของพวกเราอาจนั่งไม่ได้จริง เราก็ต้องไปทางการใช้งานมากขึ้น เลยเปลี่ยนแบบเป็นม้านั่ง ภาษาทางการออกแบบของทีมเราตั้งแต่แรกก็เลยเปลี่ยนไปเยอะ 


 

ประสบการณ์สำคัญหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการ

 

สิ่งที่เรียนรู้คือเราเปิดใจกับข้อจำกัดทุกอย่าง เหมือนที่ทีมเราออกแบบไปค่อนข้างเยอะ ถึงจะไม่ได้ใช้งานแต่ที่จริงแล้วไม่ได้เสียเปล่า งานออกแบบแต่ละครั้งที่เราทำ จะหยิบยื่นบางอย่างมาในดีไซน์ใหม่เสมอ ถือว่าเป็นการสั่งสมประสบการณ์อย่างหนึ่ง


 

ความคาดหวังในผลงาน “ซีคลอง” 

 

อยากให้ผู้คนมาเติมเต็มความสมดุลของเก้าอี้นั่งและเกิดปฏิสัมพันธ์ด้วยกัน อยากฝากทีมพวกผมให้เติมเต็มความหมายของเก้าอี้สาธารณะให้เป็นมากกว่าเก้าอี้ และเพิ่มความหมายของคำว่า “ซีคลอง” ในโครงการ วัน แบงค็อก 


 

Back to top