INTERVIEW - SITTING SMOOTH

SITTING SMOOTH ลงตัวและลื่นไหล เมื่อเฟอร์นิเจอร์เป็นใจกลางของผู้ใช้งานทุกคน

 

SITTING SMOOTH คือชื่อทีมที่สะท้อนเจตนาแห่งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่อยากให้การนั่งนั้น “ราบลื่น” เพื่อให้ผู้ใช้งานไม่ว่าจะวัยไหนก็สามารถมายืนรอหรือนั่งเล่นที่เก้าอี้ตัวนี้ได้อย่างเพลิดเพลินไม่ต่างกัน สองว่าที่นักออกแบบจากเชียงใหม่อย่าง กำแพง รามสูต คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อภิญญา สิทธิสงคราม คณะศิลปกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้แรงบันดาลใจจากเครื่องเล่นสไลเดอร์ในสนามเด็กเล่นมาเป็นไอเดียในการดีไซน์ ก่อนพัฒนาแบบให้เข้ากับบริบทและปรับเปลี่ยนโหมดที่นั่งเป็น Sit to Linger เพื่อให้เข้ากับพื้นที่ Civic plaza ของโครงการ วัน แบงค็อก

 

GGDhbOdtnA3ijzAMyRuf8eApqSg34ZclZ56QwwpdXG_XXu1hWdcfGNGDIlxbQ7aJSWzjyzlxbtWD0YRW2GnAL2LPumE-UpyfEog3sHtsetG0s0Psa5lMPo8r2-N07fivqIOFg0DXz83DicDpvM_XLTbbvLyg7Cbx3eCBmPuag9Swf-DRG783Qjh-Pzhcuw


 

มีขั้นตอนการรีเสิร์ชหรือได้รับแรงบันดาลใจอย่างไรก่อนพัฒนาเป็นดีไซน์ที่ส่งเข้าประกวด

 

กำแพง - มาจากประสบการณ์ส่วนตัว ที่ได้เห็นว่าเด็กชอบปีนป่าย ชอบวิ่งหรือเคลื่อนไหวตามเครื่องเล่นต่างๆ ที่เชื่อมต่อกัน เหมือนขึ้นเนินแล้วสไลด์ลงมา เด็กชอบมุด ชอบคลาน ตอนแรกคิดว่ามันน่าจะดีนะ ถ้ามันมีเก้าอี้ที่เหมือนโชว์การเล่นของเด็ก แล้วสามารถกระโดดโลดเต้น มามุด มาคลาน น่าจะสนุกดี 

 

อภิญญา - มาจากการสังเกตด้วยว่าเด็กต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ถ้าเราไปสนามเด็กเล่นจะเห็นเครื่องเล่นสไลเดอร์เป็นไฮไลท์ เป็นความทรงจำวัยเด็กของเรา


 

ช่วงที่เข้าเวิร์กชอปพบเจอกับความท้าทายอย่างไรบ้าง

 

อภิญญา - ถ้าดูจากดีไซน์จะเหมือนว่าตัวชิ้นงานดูมีความเป็นไปได้ แต่ในเรื่องของการไปติดตั้งในโครงการ วัน แบงค็อก มีเรื่องของพื้นที่ซึ่งถูกกำหนดมาตั้งแต่แรก คือไซต์ที่เป็นโจทย์ตอนแรกมีความโอบล้อมเหมือนกระเปาะ ทีมเรารู้สึกว่ามันแคบมาก มันเลยทำให้การพัฒนาแบบแต่ละครั้งไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ถูกปรับแค่เล็กๆ น้อยๆแต่ว่าทีมของเราถูกปรับเปลี่ยนไซต์ประมาณสัปดาห์ที่ 9 หรือ 10 เลยพัฒนาแบบก้าวกระโดดมากในตอนท้ายๆ 


 

จากเจตนาแรกของเราจนถึงการพัฒนาแบบ ภาษาในการดีไซน์ยังเหมือนเดิมหรือเปล่า

 

กำแพง - ยังอยู่ครับ เนื่องจากชื่อทีม Sitting Smooth ถึงแม้ว่าผู้ใช้เราจะเปลี่ยนจากตอนแรกที่เน้นครอบครัวที่มีเด็กๆ มาเป็นผู้ใช้งานทั่วไปแต่ว่าเราก็พยายามรักษาลักษณะของการไหลของคนจากยืนมานั่งเข้าไปในตัวชิ้นงาน แล้วก็ลักษณะโครงสร้างก็ไม่ได้ต่างจากครั้งแรกที่ประกวดแบบเข้าไปมาก แต่เราเปลี่ยนองค์ประกอบบางส่วนให้ตอบโจทย์มากขึ้น

 

อภิญญา - ยังเป็นเหมือนเดิมอยู่ แต่ไม่ได้เน้นแค่ฟังก์ชันอย่างเดียว แต่มันก็มีความสนุกเข้ามาด้วยทั้งจากการใช้สีสันหรือการใช้งานที่สมู้ทอยู่


 

สิ่งที่เหมือนหรือต่างกันระหว่างการออกแบบงานสถาปัตยกรรมที่ได้เรียนมากับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์คืออะไร และได้เรียนรู้อะไรใหม่บ้าง

 

กำแพง - การออกแบบอาคารหรือบ้านค่อนข้างใช้ระยะเวลามากกว่า เพราะในแต่ละรายละเอียดมีคนดูแลที่มากตามไปด้วย แต่พอเป็นเฟอร์นิเจอร์ กระบวนการเหล่านี้ลดทอนลง ทั้งการวิเคราะห์ การเขียนแบบ ออกแบบ การสเก็ตช์ หรือการทำสเกล 1:1 รายละเอียดพวกนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นได้ทันที ซึ่งเราเห็นภาพความเป็นจริงของการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ได้ง่ายกว่าการออกแบบบ้าน 

 

อภิญญา - ในส่วนของเฟอร์นิเจอร์เราไม่คิดว่ามีรายละเอียดที่เยอะขนาดนี้ หรือมีกระบวนการของการคิดวิเคราะห์ตั้งแต่แรก งานสถาปัตยกรรมและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์นั้นมีกระบวนการออกแบบที่ค่อนข้างจะเหมือนกันในเรื่องของการคิดคอนเซปต์ แต่การออกแบบเฟอร์นิเจอร์จะมีความละเอียดกว่าในการคำนึงถึงการใช้งานจริงๆ ในการทำบ้านเราไม่ได้นึกถึงในเรื่องของสเกลคนหรือว่าการใช้งาน พอเป็นเก้าอี้ พอต้องใช้จริงๆ นั่งจริงๆ เป็นระยะเวลานาน เราต้องทำให้มีสเกลที่นั่งแล้วสบายจริงๆ เป็นเรื่องการที่ต้องนึกถึงการใช้งานจริงมากๆ


 

ได้ความรู้ใหม่หรือปลดล็อคทักษะใหม่ๆ อะไรบ้างจากการเข้าร่วมโครงการนี้

 

อภิญญา - ได้ความรู้เรื่องของการทำพรีเซนท์เทชั่นกับการสร้างเรื่องราวให้กับชิ้นงาน กว่าจะออกมาเป็นงานหนึ่งชิ้น ไม่ใช่แค่การออกแบบอย่างเดียว ยังรวมถึงหลายๆ เรื่อง แล้วเพื่อนที่ร่วมโครงการถึงจะเรียนสายออกแบบเหมือนกัน แต่ก็คนละสาขา อย่างบางคนเรียนผลิตภัณฑ์ ดังนั้น การเล่าถึงโปรเจ็กต์ของเขาจะมีความไหลลื่น มันไม่ได้เหมือนการออกแบบตึกแล้วพรีเซนท์ตึก หลายทีมก็เล่าเรื่องไหลลื่น ดูน่าฟัง ขายงานเก่งมาก 

 

กำแพง - การร่วมโครงการเหมือนการทำสารคดี มีการเก็บข้อมูลบางอย่างที่เราอาจมองข้าม ถ้าเราทำ production ดีๆ ถ่ายรูปมุมดีๆ ถ่ายกระบวนการเก็บภาพของเราระหว่างทำไว้ แสดงให้เห็นถึงกระบวนการ ไม่ใช่เห็นว่าภาพสุดท้ายเป็นแบบนี้แล้วอย่างไรต่อ เป็นการเพิ่มคุณค่าในตัวงานผ่านเรื่องเล่าที่เรามองข้ามมา 


 

ความภาคภูมิใจที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ

 

อภิญญา - ภูมิใจในตัวเองที่ฝ่าฝันมาถึงขนาดนี้  เราผ่านอะไรมาเยอะมากจริงๆ เหมือนว่าไม่ได้มาประกวดออกแบบเก้าอี้อย่างเดียวแต่ทำให้เราโตขึ้นในเรื่องของมุมมอง การที่เจอเพื่อนใหม่ การเดินทาง การได้ร่วมงานกับพี่ๆ หรือว่า THINKK Studio ทำให้ปลดล็อคตัวเองในระดับหนึ่ง รู้สึกว่าเราโตขึ้นจริงๆ 

 

กำแพง - ภูมิใจที่ตัวเองแบ่งเวลาให้เข้ากับเพื่อนได้ แล้วก็วางแผนมากขึ้นในการเดินทาง ในการทำงาน  แล้วก็การใช้ทรัพยากรของเราให้เต็มที่ รวมไปถึงการที่ได้รู้จักคนใหม่ๆ คิดว่าเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่ง

Back to top