INTERVIEW - THE CREW SEATSCAPE

THE CREW SEATSCAPE ตอบทุกโจทย์ โลดแล่นอยู่บนทุกความเป็นไปได้

 

จะเป็นอย่างไรถ้าหากในบริบทพื้นที่หนึ่งๆ มีเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่ตอบโจทย์กับทุกกิจกรรมที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการหาที่นั่งเปิดคอมเพื่อประชุมสั้นๆ การกินของว่างยามบ่าย การได้เอนตัวเพื่อพักใจ ไปจนถึงการได้นั่งพูดคุยในช่วงเวลาสบายๆ ทีม THE CREW SEATSCAPE นำความต้องการเหล่านี้มาออกแบบเป็นที่นั่งที่ผู้ใช้ทุกคนสามารถทำกิจกรรมส่วนตัวในพื้นที่สาธารณะได้ สมาชิกทีมทั้ง 3 คนคือ พิมพ์ลภา ลักขณานุกุล วริทธิ์ธร ทิอวน และ ธนภัทร สิงห์งาม จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมกันลงมือดีไซน์ที่นั่งที่รวมเอาท่าทางการนั่งทั้งแนวตั้งและแนวนอน กิจกรรมของผู้ใช้ และบริบทในพื้นที่ มาออกแบบเป็นที่นั่งพร้อมรองรับทุกความต้องการ เหมาะกับผู้ใช้งานทุกกลุ่มที่เข้ามาในพื้นที่ศูนย์กลางกิจกรรมของโครงการ วัน แบงค็อก อย่าง Civic Plaza 


 

RP1R22EmRFOYbZYAjlCNC29kkx_pccgldp_QpskbbOo5WlmeyUVkA6bpHUObuN2HgGQfiPcYtyf4pKCOGUnLq3JwSW3jwtPsSERFwLZXV5vE8I20WczqJEMb6pjpQGoBGaOsHnYOyjDWnucWQB-n1p88FpA44meZHVbFsa5LCrfZ8HBd2LeMgEXh8vAEPg


 

จากจุดเริ่มต้น ทีมนี้พัฒนาไอเดียของการส่งแบบเข้ามาร่วมโครงการกันอย่างไรบ้าง

 

วริทธิ์ธร - ตอนนั้นเป็นช่วงปิดเทอม แล้วเราก็เห็นโครงการประกวดแบบตัวนี้ว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจดี พวกเราเลยลองหาทีมดู เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของวิชาด้วย คืออาจารย์เขาเปิดวิชามาตอนปิดเทอม เราเห็นว่าเรียนแล้วได้หน่วยกิตด้วย แล้วก็ได้ทำประกวดแบบด้วย แต่พอทำไปปุ๊ป เราก็เริ่มเห็นว่าเป็นสิ่งใหม่ อย่างสำหรับผมกับพิมพ์ลภา ก็คือเรียนสถาปัตยกรรม แต่ว่าสิ่งที่เราทำ เป็นเฟอร์นิเจอร์ เราเลยคิดว่าเป็นสิ่งใหม่กับเราด้วย ได้มีโอกาสลองเปิดใจทำสิ่งใหม่ดู 


 

หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้วได้เจอกับความท้าทายหรือความยากที่เราไม่คิดถึงมาก่อนอย่างไรบ้าง

 

วริทธิ์ธร - สิ่งที่อยากที่สุดสำหรับตัวผม ด้วยความที่เราไม่ได้เรียนมาโดยตรง เราเรียนสถาปัตยกรรม แต่ว่าเราต้องออกแบบ product ก็เลยคิดว่าเป็นสิ่งที่เราไม่ถนัดเอาซะเลย เราต้องทำความเข้าใจของบางอย่างลึกซึ้งมากขึ้น อย่างเวลาเราออกแบบสถาปัตยกรรม หน่วยจะเป็นเมตร เรามองเป็นภาพใหญ่ เราไม่เคยมองว่าเฟอร์นิเจอร์ตัวนี้สูงเท่าไหร่ มีการวางระนาบเท่านี้เพื่อให้ผู้ใช้ใช้ได้สบาย สีแบบนี้ วัสดุแบบนี้ เคยแต่มองถึงอาคารใหญ่ๆ แต่พอเราต้องมาทำสิ่งเล็กๆ แบบนี้ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยมองถึงมาก่อน อย่างเช่น สรีระร่างกายของคน ขนาดที่ต้องมอง การใช้งาน วัสดุต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต ถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มากๆ 

 

ธนภัทร - ของผมคือเหมือนตอนเราเริ่มเวิร์กชอปแรกๆ ทีมงานก็พาเราไปดูไซต์ พอได้ดูไซต์ก็เหมือนยังไม่ได้เริ่มทำจริงๆ เกิดถ้าเราออกแบบไปแล้วสมมติไปอยู่กับไซต์ไม่ได้ขึ้นมาเราจะทำยังไง ในช่วงเวลาที่เราเวิร์กชอป เราได้รู้ว่าการมาอยู่โครงการนี้คือการได้เรียนรู้ว่าเวลางานที่เราออกแบบต้องผลิตจริง สามารถทำได้จริงไหมค่อนข้างมีความกดดันในระดับหนึ่ง

 

พิมพ์ลภา - เราเจอปัญหานี้มาทั้งสามคนเลยคล้ายๆ กัน ในช่วงแรกทาง วัน แบงค็อก เองแบบยังไม่ค่อยนิ่งเท่าไหร่  พอเรามาตรวจแบบทุกครั้ง เหมือนเราต้องจินตนาการบริบทกับพื้นที่เอง ถึงแม้จะมีแปลนหรือ 3D แต่ก็เป็นเรื่องที่ยากในการทำงานเหมือนกัน ว่าพองานของเราที่สร้างจริงแล้วจะส่งผลยังไงต่อตัวพื้นที่ตรงนั้น

 

สมาชิกในทีมบาลานซ์ระหว่างความเป็นงานศิลปะและการใช้งานอย่างไร

 

วริทธิ์ธร - ด้วยทีมของพวกเราเน้นเรื่องการใช้งานมากกว่าความสวยงาม นั่นคือจุดอ่อนของพวกเรา เราไม่ได้ถนัดด้านความสวยงามมากเท่าไหร่ นึกถึงแต่การใช้งาน ในขณะเดียวกันเราก็พยายามทำลายข้อจำกัดตรงนี้ พยายามหาองค์ประกอบหรือภาษาต่างๆ ที่มีความเป็นศิลปะมากขึ้น เพราะว่าเราไม่ได้ชอบเห็นเก้าอี้ไม้ธรรมดาๆ ที่ตั้งอยู่กลางสวนสาธารณะ เราอยากให้มีอะไรมากกว่าที่เป็นแค่เก้าอี้ เพราะว่าไม่ใช่แค่นั่ง เพราะการนั่งนั้นมีอะไรมากกว่าอีกเยอะ

 

ความประทับใจของแต่ละคนที่มีตั้งแต่เข้าร่วมโครงการจนถึงตอนนี้

 

วริทธิ์ธร - เป็นเรื่องที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ การได้มาทำสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่แหวกแนวจากที่เรียนมาทั้งหมด ไม่ใช่ใหม่แค่เรื่องของการประกวดแบบ แต่ใหม่ที่เราได้เจอสังคม เช่น เราเห็นว่า โครงการระดับเมกะโปรเจ็กต์เขาทำงานอย่างไร หรือว่าเขามีความต้องการอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร เราได้เห็นว่าเวลาเขาคุยงานกันหรือเขาประสานงานกัน เขาทำอย่างไร เราได้เห็นเรื่องของการที่คนอื่นๆ เขาคิดงานกันอย่างไร อย่างเพื่อนๆ ที่ได้ติดเข้ารอบมาด้วยกัน เราเห็นแบบ เห็นพัฒนาการ เป็นสิ่งที่เรียกว่าในแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยก็มีคาแรกเตอร์ที่แตกต่างกัน เราก็จะเห็นคาแรกเตอร์ของทีมอื่นๆ ที่แตกต่างจากของเรา ก็ตื่นเต้นดีครับ 

 

ธนภัทร - เป็นการได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ของตัวผมไม่ได้เรียนภาคสถาปัตยกรรมแต่เรียนเฟอร์นิเจอร์ ก็พอเห็นแนวทางการออกแบบที่เป็นรูปเป็นร่างบ้าง แต่ก็ไม่ได้ลึกเหมือนที่เราได้มาเวิร์กชอปตรงนี้ ที่ต้องมองให้ลึกกว่าเดิม ต้องเป็นอะไรที่จริงจังกว่าเดิม เหมือนเราได้แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน ได้เห็นความรู้ใหม่ๆ จากกลุ่มอื่นๆ แล้วก็เหมือนได้รู้จักกับความคิดของเพื่อนด้วย

 

พิมพ์ลภา - เป็นความตื่นเต้นมากกว่า จากเศษกระดาษเล็กๆ สเก็ตช์ของเราจากตอนนั้นที่เป็นอะไรก็ไม่รู้จนกลายเป็นการสร้างจริง ตื่นเต้นที่จะเห็นงานเราของจริงที่ออกแบบเอง 

 

ความภูมิใจของแต่ละคนมีอะไรบ้าง

 

วริทธิ์ธร - ผมก็อยากเชิญชวนมาใช้งาน ถ้าได้ผลิตจริงแล้วก็ลองมาใช้งานดูนะครับ อาจจะเป็นงานทดลองของพวกเรา แต่ก็คืองานที่เราออกแบบมาเพื่อ วัน แบงค็อก โดยเฉพาะ คิดว่าไม่สามารถไปเกิดได้ในที่อื่น เพราะว่าบริบทถูกสร้างจากพื้นที่ของ วัน แบงค็อก เท่านั้น ถ้าไปทำที่อื่นต่อให้ใช้วิธีคิดเดียวกัน ผลลัพธ์จะไม่ใช่แบบนี้ ผมว่าเป็นสิ่งพิเศษมากๆ อยากจะให้คนที่ใช้งานได้ใช้งานได้มากกว่าที่คิดกันไว้ เพราะว่าบางอย่างเป็นมุมมองที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง พอมุมมองต่างกัน การใช้งาน หรือการที่เฟอร์นิเจอร์นี้จะแสดงตัวก็ต่างกันไปตามแต่ละคน แต่ละช่วงเวลา

 

ธนภัทร - อันนี้เป็นงานชิ้นแรกที่ได้ผลิตจริงออกสู่สาธารณะให้คนได้มาใช้งาน จากจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้คิดว่าจะมาได้ไกลขนาดนี้ จากงานเล็กๆ ก็เป็นงานที่ถูกผลิตจริงขึ้นมา ก็รู้สึกเหมือนแบบสุดยอด

 

พิมพ์ลภา - ในตอนแรกที่ไม่มีความกล้าอะไรเลยว่าตัวเองจะสามารถทำได้ แต่พอมาถึงจุดนี้แล้วก็รู้สึกว่า เราก็สามารถผลิตชิ้นงานที่มันสามารถใช้งานได้จริง แบบสเก็ตช์เร็วๆ ได้กลายเป็นตัวจริง รู้สึกภูมิใจในตัวเองและเพื่อนๆ ทุกคนที่อดหลับอดนอนและต่อสู้กันมา


 

Back to top