INTERVIEW - THE SPECTRUM

THE SPECTRUM การสะท้อนแสงที่สร้างเฉด เก้าอี้ที่กล้าชวนให้ทุกคนออกมานั่งกลางแจ้ง

 

เพราะรู้ดีว่าแสงแดดเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายคนเลือกใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคาร ไม่อยากเจอความร้อนในพื้นที่กลางแจ้ง ทีม THE SPECTURM จึงอยากลองปรับมุมมองต่อการนั่งในพื้นที่กลางแจ้งใหม่ ด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะที่ทำให้การนั่งนั้นสดใสมากขึ้น การดีไซน์ที่จำลองการงอกเงยกิ่งก้านของต้นไม้ ออกแบบผ่านโครงสร้างที่ผลิตขึ้นจากวัสดุอย่างฟิล์มไดโครอิก ที่มีคุณสมบัติสะท้อนแสงออกมาเป็นหลายเฉด ให้เอฟเฟกต์เป็นร่มเงาที่รองรับต่อการพักผ่อนหย่อนใจ

 

สมาชิกทีมประกอบด้วย พชรภา พิพัฒน์นัดดา และ ณิชนันท์ กาศิเษฎาพันธ์ จากคณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ อรญา คุณากร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่รวมตัวกันเพื่อสร้างผลงานที่จะมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับการออกมาใช้ชีวิตกลางแจ้ง

 

C9D2Jj_esRErEb8KZX2yMtZdD-IYndJ7bfsBowuF4OlU9cx3hoWlAS80OnUXe9OyJDqQKfy7CdiK_McjErpaA7EsOfFLIEFxX98iQSOz8ud7S5AYWgT-Xiikvu-ea7murWbdrRamKLG39uvEtSRsg0QhDEjEpqSMyDClfhRI0w_5QSMXtupC_7UMz0L1vA


 

อะไรคือไอเดียของการเลือกโหมดที่นั่งในช่วงส่งแบบเข้ามาประกวด

 

พชรภา -  ตอนนั้นเราลองมาตีความความเป็น urban furniture ของโครงการ วัน แบงคอก ว่าอยากจะเล่ายังไงหรือมีไอเดียยังไงบ้าง สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าน่าตื่นเต้นแล้วก็น่าท้าทายคือ sit to linger ที่หมายถึงการได้นั่งอยู่กับตัวเองในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงที่มีการพูดถึงเรื่องความยั่งยืนและสภาวะโลกร้อนค่อนข้างมาก เลยคิดว่าถ้าอยากจะสื่อสารเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติ ให้ผู้คนได้รับรู้ผ่านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ เราสามารถทำด้วยวิธีไหนได้บ้าง หรือว่าสามารถนำข้อดีของธรรมชาติมาสื่อสารยังไงให้คนเห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติที่ทุกวันนี้มีอยู่ แต่ว่าเราอาจจะไม่ได้มองเห็น พอมาผนวกกับโหมดการนั่ง Sit to Linger หรือการนั่งอยู่กับตัวเอง เหมือนหาความสงบ หรือการได้เห็นธรรมชาติ ก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ระหว่างความเป็นธรรมชาติกับแนวคิดของ Sit to Linger


 

มีการค้นคว้าเรื่องพฤติกรรมผู้ใช้อย่างไร

 

ฌิชนันท์ - เราเดินทางไปสวนเบญจกิตติ เหมือนว่าตอนนั้นเรานั่งคุยกันก่อน เพราะเป็นช่วงที่จะเลือกว่าจะทำ Sit to Linger หรือว่า Sit to Gather เพื่อให้รู้ตัดสินใจง่ายขึ้นด้วยเลยไปลองดูพื้นที่จริงที่ค่อนข้างมีความเป็นธรรมชาติ เพื่อไปดูลักษณะของต้นไม้และผู้คนที่ไปใช้ชีวิตในสวนตรงนั้น 


 

ตลอดการเข้าร่วมโครงการ มีเวิร์กชอปไหนที่ประทับใจมากที่สุด

 

ฌิชนันท์ - ทั้งสามคนเป็นครั้งเดียวกันหมดเลยค่ะ คือของสนิทัศน์ สตูดิโอ ตอนนั้นไปที่ตึก BAB cafe เรารู้สึกว่าตัวงานของสนิทัศน์ค่อนข้างที่จะตรงกับทีมของพวกเรา เป็นการใช้ธรรมชาติเข้ามามี interaction กับงานออกแบบ ซึ่งได้ไปปรึกษากับทางวิทยากรที่มาบรรยายด้วย รู้สึกว่าค่อนข้างช่วยในการออกแบบและช่วยในการปรับเปลี่ยนมุมมองมากขึ้น 


 

การได้รับคำแนะนำจาก THINKK Studio เป็นอย่างไร มีข้อแนะนำที่ช่วยพัฒนาผลงานอย่างไรบ้าง 

 

พชรภา - ได้มุมมองใหม่ๆ ของการออกแบบ สิ่งที่พวกเราเคยเรียนกันมาเป็นการที่ต้องดีไซน์เป็นวัตถุบางอย่างที่สามารถจับต้องได้  เช่น เฟอร์นิเจอร์หนึ่งชิ้น แต่ว่าพอได้ผ่านการเวิร์กชอปแล้วกลับทำให้เห็นว่าการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งานหรือการออกแบบเรื่องราวหรือว่า story ที่เราอยากจะเล่าเข้าไปให้คนใช้งานหรือพวกเรากันเองได้ต่อยอดและเรียนรู้ ก็เป็นการออกแบบหนึ่งที่สามารถทำได้ และเป็นการเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับการออกแบบที่ตอนนี้อาจจะยังไม่ถูกค้นพบ แต่เราค้นหาไปเรื่อยๆ จนอาจจะได้เจอสิ่งใหม่


 

ความประทับต่อโครงการประกวดนี้

 

ฌิชนันท์ - เพื่อนต่างมหาวิทยาลัยก็เป็นหนึ่งในเรื่องที่ประทับใจ เนื่องจากติดอยู่ช่วงโควิด เพื่อนที่เจอกันที่ THINKK Studio ก็ถือเป็นมนุษย์กลุ่มแรกๆ ที่เราได้เจอหลังการกักตัวมาอย่างยาวนาน (หัวเราะ) พอได้เห็นการนำเสนอของแต่ละทีม ก็ได้เห็นคาแรกเตอร์ที่ต่างกันออกไปด้วย

 

พชรภา -  ประทับใจทุกครั้งที่ไปเวิร์กชอปว่าเราจะได้แนวความคิดใหม่มาต่อยอดกับงาน อันนี้มาต่อยอดหรือมาเพิ่มอะไรได้ไหม ขอบคุณพี่ๆ เมนเทอร์ทุกคนที่ช่วยชี้ทางให้กับพวกเรา เพราะพวกเราก็ยังใหม่มากในการทำงานจริง การได้ทำงานกับพี่ๆ ที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์จริงก็เป็นความประทับใจที่ทำให้รู้ว่าการทำงานจริงมันเป็นแบบนี้นี่เอง รวมถึงการทำงานกับเพื่อนๆ ด้วย ที่ได้ล้มลุกคลุกคลานมาหลายเดือน รู้สึกว่าเป็นเพื่อนที่อาจจะไม่มีวันลืม

 

อรญา -  ทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับทีมเรา ประทับใจทุกอย่างที่เกิดขึ้น ทุกๆ ประสบการณ์ที่ได้รับ ถือเป็นการเปิดมุมมองเรื่องดีไซน์มากๆ ตัวเองไม่เคยได้รู้เรื่องเกี่ยวกับการออกแบบมาก่อนเลย เพราะว่าเรียนสายนิเทศศาสตร์ ก็เลยดีใจที่ได้โอกาสนี้ 


 

ทีมมีความคาดหวังต่อการเข้าใช้งานจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างไรบ้าง

 

อรญา - เป้าหมายในงานออกแบบของเราคืออยากให้ผู้คนมาใช้ชีวิตนอกอาคาร แล้วก็เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแสงแดด จากแสงแดดที่เราหลบเวลาจ้าๆ เป็นแสงแดดที่มีสีสัน ไม่สามารถคาดเดาได้ในแต่ละวันหรือแต่ละช่วงเวลา สิ่งที่เราคาดหวังก็เป็นจุดประสงค์ของทีม THE SPECTURM

 

พชรภา -  ถ้าเกิดคาดหวังในพื้นที่จริงคืออยากได้พื้นที่ที่จะช่วยส่งเสริมผลงานให้ได้บอกเล่าเรื่องราวที่เราอยากเล่า อย่างที่พวกเราตั้งใจ คาดหวังว่าจะได้เห็นคนมาเอนจอยกับเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนี้ อาจจะเข้าใจหรืออาจจะไม่เข้าใจ ขอแค่มาซึมซับสิ่งที่เราอยากเล่าให้ได้มากเท่าที่เขาต้องการ อาจมีกลุ่มผู้ใช้ที่เข้าใจหรือผู้ใช้ที่มาเพราะอยากสัมผัสเอฟเฟกต์ของงาน ก็อยากให้มาเอนจอยกันทั้งในเชิงภาพและสิ่งที่เราอยากสื่อสาร 

 

ฌิชนันท์ - อยากให้สิ่งที่เราอยากสื่อส่งไปถึงผู้ใช้งาน แต่ว่าต่อให้ผู้ใช้งานอาจจะไม่ได้เข้าใจตัวใจความนั้น 100% ถ้าที่นั่งทำให้ผู้ใช้เอนจอยกับการออกมาใช้ชีวิตข้างนอก มาใช้ชีวิตกับธรรมชาติได้มากขึ้น ก็รู้สึกว่าเราค่อนข้างส่งเมสเซสส่วนนึงสำเร็จแล้ว อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ว่าอย่างน้อยก็ไปถึงแล้ว ไม่ได้คิดว่าต้องเข้าใจว่าเก้าอี้ตัวนี้เป็นงานศิลปะหรืองานดีไซน์หรือเปล่าถึงจะมานั่งที่นั่งของเราได้ อยากให้เป็นใครก็ตามที่อยากใช้ชีวิตนอกอาคารมากขึ้น

Back to top